จัดทัพ 40 CEO หอการค้า ภารกิจลุยหา “วัคซีน” สุดขอบฟ้า

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 หอการค้าไทยได้จัดประชุมร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทยผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชนและการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” ให้เพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง

เป้าหมาย 70% เปิดประเทศ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า วัคซีนลอตใหญ่ที่รัฐบาลจัดหา (AstraZeneca) ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จะต้องมีการเตรียมตัว วางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชนพร้อมจะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมาให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยได้เริ่มนำร่องร่วมกับ กทม.ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่น พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

โดยผลสรุปจากการประชุม CEO ครั้งนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่า “ล่าช้ามาก” สำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 70% ของประชากร ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของ กทม.ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ในที่ประชุม CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ

วาง 4 ทีมหนุนวัคซีน

หอการค้าไทยและเครือข่ายจะแบ่งงานสนับสนุนภาครัฐออกเป็น 4 ทีม ได้แก่ Team A : Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุนสถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้ กทม. เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

“ตอนนี้ได้มีการเตรียมไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม.แล้ว ในระยะแรกจำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่องจัดพื้นที่ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล, SCG, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, เอเชียทีค, โลตัส, บิ๊กซี, ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม. ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน เช่น มีการมองถึงการเคลื่อนย้ายโมบายยูนิตไปฉีดในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้าย”

Team B : Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever เป็นต้น

Team C : IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ

รพ.เอกชน ทัพหน้าหาวัคซีนทางเลือก

และ Team D : Extra Vaccine Procurement หรือทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยจะร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เข้าไปสำรวจความต้องการฉีด “วัคซีนทางเลือก” เพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

“สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้มีการหารือกันแล้วประเมินว่า ประเทศไทยยังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีวัคซีนทางเลือก ได้แก่ Moderna และ Pfizer ของสหรัฐ วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics ของจีน วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech อินเดีย และ Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งทางภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัท รวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล” นายสนั่นกล่าว

ซี.พี.-ไทยเบฟฯหนุนช่วยเต็มที่

ด้าน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทีมจัดหาสถานที่เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นที่ฉีดวัคซีน จะมี นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เป็นหัวหน้าทีม เมื่อมีวัคซีนเข้ามาในเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 64 โดยจะเข้ามาทุก ๆ เดือนประมาณ 500,000-1.5 ล้านโดส เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการฉีด ปัจจุบันมีสถานที่ที่นำเสนอตัวเข้ามาถึง 49 สถานที่แล้ว

ทีมการประชาสัมพันธ์มี นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทยและอาเซียน เป็นหัวหน้าทีม ทีมระบบเชื่อมต่อข้อมูล มี นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นหัวหน้าทีม เชื่อมต่อกันเพราะการฉีดวัคซีนจะต้องใช้ถึง 6 สถานี คือ การมาลงทะเบียน วัดอุณหภูมิ ฉีดเสร็จต้องวัดอุณหภูมิหลังฉีด ต้องนั่งพัก ซึ่งแต่ละสเตชั่นต้องมีการสื่อสารระหว่างกัน

ส่วนทีมหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลจัดหานั้น จะมี นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นหัวหน้าทีม ร่วมกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโส การจัดหาวัคซีนทางเลือกมีความจำเป็นมาก จากจำนวนประชากร 70 ล้านคน ถ้าจะให้ปลอดภัยคือ ต้องมีประมาณ 50 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง เท่ากับต้องใช้วัคซีนประมาณ 100 ล้านโดส

แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีวัคซีนประมาณ 60 ล้านโดสเท่านั้น แม้ว่ารัฐบาลอาจจะจัดหาวัคซีนได้อีก 10 ล้านโดส แต่ยังขาดอยู่ประมาณ 10-20 ล้านโดส จึงจำเป็นต้องหาวัคซีนทางเลือก ทางเอกชนพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อช่วยหาอีกแรง โดยหายี่ห้ออื่น ๆ หรือเอกชนซื้อเองโดยร่วมกับทางโรงพยาบาลเอกชน

“ในที่ประชุมได้รับฟังไอเดียจากคุณศุภชัยว่า TRUE พร้อมร่วมมือทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือสถานที่ อะไรก็ตามที่กลุ่ม C.P. มี ก็พร้อมให้ความร่วมมือหมด ให้แจ้งมา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึง คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็น 2 ทีมหลักที่แสดงเจตจำนงพร้อมให้ความร่วมมือทุกด้าน” นายจีรพันธ์กล่าว

หนุนใช้ รพ.ตามฐานข้อมูลประกันสังคม

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) หนึ่งใน 40 CEO ที่เข้าประชุม กล่าวว่า ภาคเอกชนคาดหวังจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้เร็วและครอบคลุมประชากรคนไทยทั้งประเทศได้ประมาณ 60-70% ให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้ เพื่อให้เศรษฐกิจ การค้า-ขาย การส่งออก หรือการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติ

“หน่วยงานอย่างสำนักงานประกันสังคม จะมีฐานข้อมูลของผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39, 40 ประมาณ 12-13 ล้านคน มีข้อมูลตามโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนทำไว้ น่าจะเป็นช่องทางสำคัญในการให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ เป็นการกระจายการให้บริการให้กับประชาชน”