จับกระแส Telehealth วิถีใหม่รักษาพยาบาลหลัง COVID

มองข้ามชอต
ปราณิดา ศยามานนท์
(EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับบริการสุขภาพทางไกล หรือที่เรียกว่า telehealth ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้งานจริงในช่วงแรกอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมากลับกลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ความต้องการใช้งาน telehealth เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อย่างเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาที่การแพร่ระบาดรุนแรงมากในปี 2020 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการใช้บริการด้านสุขภาพมาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยจากงานวิจัยของ McKinsey พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐหันมาใช้บริการ telehealth เพิ่มขึ้นจาก 11% ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมดในปี 2019 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020

เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากการที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาลในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการเลื่อนการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกไป แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางส่วนยังมีความต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำในการรักษาอาการป่วยทั่วไป ทำให้หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มการรักษาพยาบาลออนไลน์กันมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายแล้ว telehealth ยังน่าจะเป็นรูปแบบของการให้บริการด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากผลสำรวจของ McKinsey ดังกล่าวข้างต้นยังพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐถึงราว 76% ตอบว่ายังสนใจจะใช้บริการ telehealth ต่อไป หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว

เช่นเดียวกันกับในหลาย ๆ ประเทศที่ telehealth เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้ Statista ได้มีการคาดมูลค่าตลาด telehealth ของโลกในช่วงปี 2019-2026 จะเติบโตราว 21% ต่อปีมาอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในไทย telehealth ถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลทางไกล หรือที่เรียกว่า telemedicine ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงแรกจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง

แต่โควิด-19 นับเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ส่งผลให้ telemedicine เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงแต่การให้คำปรึกษาสำหรับการรักษาพยาบาลขั้นต้น หรือการรักษาแบบเป็นครั้งคราว อาทิ การเจ็บป่วยทั่วไป อย่างเช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง แต่ telemedicine มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลสำหรับกรณีที่ต้องมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommunicable diseases : NCDs) อย่างเช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ซึ่งผู้ป่วยต้องมีการนัดพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs เหล่านี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดรับกับเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงอายุ telemedicine จึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดีในหลายด้าน ทั้งในแง่ความสะดวกสบายที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยมากเกินความจำเป็น

อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาลได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้นด้วย แม้ว่า telehealth จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของ telehealth เนื่องจากการตรวจของแพทย์ผ่านทาง VDO ยังมีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยที่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ร่วมด้วย

อีกทั้งการรักษาในหลายกลุ่มโรคยังมีความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือตรวจติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs ส่งผลให้การให้บริการผ่าน telehealth ต้องมีเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มอื่น ๆ มาช่วยเสริมและสนับสนุนการทำงาน อย่างเช่น อุปกรณ์ตรวจติดตามทางไกล (telemonitoring) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมการรักษาพยาบาลโดยจะมีการนำเอาอุปกรณ์สวมใส่เกี่ยวกับสุขภาพ และอุปกรณ์ติดตามอาการอื่น ๆ มาเชื่อมต่อผ่านบลูทูทกับข้อมูลของแพทย์ผ่านการเชื่อมต่อจาก IOMT (internet of medical things) ได้

อย่าง real time อาทิ อุปกรณ์ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด วัดระดับออกซิเจนในเลือด อุปกรณ์ตรวจจับการทำงานของหัวใจ ตลอดจน smart bed ซึ่งการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้กับข้อมูลของแพทย์จะช่วยเสริมให้การรักษาพยาบาลทางไกลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยแพทย์ประเมินอาการผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปสู่การมีตัวช่วยเสริม อย่างเช่น การแจ้งเตือนผู้ป่วยในการทานยา การวัดค่าต่าง ๆ เพื่อติดตามอาการ และมีระบบแจ้งเตือนไปยังแพทย์หากพบความผิดปกติ

นอกจากนี้ ความท้าทายอีกด้านหนึ่งของการใช้งาน telehealth คือระบบการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก telehealth ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการสื่อสารทั้งหมด ข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยจะถูกเก็บไว้ในระบบ electronic health record ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลสูญหายหรือรั่วไหล ผู้ให้บริการจึงต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ

ขณะเดียวกัน ต้องเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้กับแพทย์ในการพิจารณาประวัติการรักษาได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และมีความเชื่อมโยงกัน อย่างเช่น กรณีของการรักษาผู้ป่วยที่มีโรค ประจำตัวหลายโรค และต้องรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางหลายคน

นอกจากการมีเทคโนโลยีมาสนับสนุนการใช้งาน telehealth แล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ telehealth ประสบความสำเร็จมาจากการให้บริการสุขภาพทางไกลแบบครบวงจร ซึ่ง “Ping An Good Doctor” เป็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มด้าน health tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน จากการมีบริการที่ครบวงจรครอบคลุมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการมีเครือข่ายโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ผู้ป่วยสามารถรับยาได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศ ทั้งนี้ จุดแข็งอีกด้านหนึ่งของ Ping An Good Doctor คือการมีบริษัทย่อยเป็นบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของบริษัทสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มกับบริษัทประกันได้ ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเทคโนโลยี AI (artificial intelligence) มาประยุกต์ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นอีกด้วย ซึ่งทำให้การใช้บริการมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกเหนือจากการมีบริการที่ครบวงจรแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลให้ telehealth ประสบความสำเร็จยังมาจากการเน้นสร้างประสบการณ์และความผูกพันกับผู้รับบริการ (patient experience & engagement) ตั้งแต่ระบบการนัดหมาย การใช้ VDO call หรือแม้แต่ chatbots ที่ช่วยในการตอบคำถาม การแจ้งเตือน ระบบการจัดส่งยา การชำระเงิน รวมถึงการติดตามอาการต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้รับบริการประทับใจและอยากจะกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องในอนาคต