แก้ขยะพลาสติกล้นเมือง จัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

ขยะพลาสติก
แตกประเด็น
สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งกลายเป็นขยะจมอยู่ในทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน โดยมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 500,000 ตันต่อปี เท่านั้น ทั้งวัสดุรีไซเคิล และการเผาให้พลังงาน

ที่น่าตกใจคือส่วนที่ถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ สูงถึง 1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้งานครั้งเดียว (single use plastic) เช่น ถุงและแก้วพลาสติก หลอด บรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงกล่องโฟมบรรจุอาหาร เป็นต้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันหาแนวทางการลดขยะพลาสติกมาโดยตลอด พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนองค์กรภาคเอกชนของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน เราจึงได้ร่วมมือกับ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรระดับโลกที่มีพันธกิจในการหยุดปัญหาขยะพลาสติกของโลกในระยะยาว, กลุ่ม Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) ที่มีเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทย ตาม roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยได้ประกาศความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อดำเนินโครงการในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิด business model ในการจัดการขยะ และสามารถนำไปขยายผลในวงกว้าง เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกตลอด supply chain

สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต

สำหรับโครงการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยนั้น จะใช้ชื่อว่า “ALL_Thailand…เพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะประกอบด้วย 3 โครงการย่อย มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี คือ

1) โครงการ Eco Digiclean Klongtoei (อีโค ดิจิคลีน คลองเตย) เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง

เช่น การสร้าง application เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติ เพื่อช่วยแยกขยะประเภทพลาสติก และสร้างระบบ traceability เป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก นอกจากนี้แล้วยังมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการหมุนเวียนพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่มี lifestyle แตกต่างกัน และเพื่อดึงดูดให้มีการนำพลาสติกคืนกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น

2) โครงการ Rayong Less-Waste (ระยองลดขยะ) เป็นโครงการขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดระยอง มีเป้าหมายที่จะเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะให้ครอบคลุมทั้ง 68 เทศบาลของจังหวัดระยอง เพื่อช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไปหลุมฝังกลบในระยอง ที่นับวันจะมีพื้นที่ลดน้อยลง

3) โครงการ Paving Green Roads (เพฟวิ่งกรีนโรด) เป็นโครงการศึกษาวิจัยการนำขยะพลาสติกไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างถนนยางมะตอยอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย เราได้ร่วมทำงานกับคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เพื่อร่วมกันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของการทำถนนที่มีส่วนประกอบของขยะพลาสติกในด้านอากาศและน้ำ รวมทั้งคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน และศักยภาพในการนำถนนพลาสติกที่ถูกรื้อถอนกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นถนนใหม่ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างถนนของประเทศไทยในอนาคตต่อไป

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดองค์กรภาคเอกชนไทยเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อน 3 โครงการย่อยในประเทศไทย โดยทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนหลักจากกลุ่ม PPP Plastics ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัท สุเอซ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการ ALL_Thailand โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และป้องกันพลาสติกเหล่านั้นหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างต้นแบบการจัดการตั้งแต่ต้นทางทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับจังหวัด ในทุกไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ภาครัฐก็สามารถนำไปขยายผลต่อยอดให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ผมคาดหวังว่า โครงการ “ALL_Thailand เพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน” ที่เราได้ร่วมกันทำในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการคัดแยกขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้ประกอบการให้มีวัตถุดิบรีไซเคิลคุณภาพดี เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก

เราจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุดตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 ให้ได้