เจ๊ง จน เจ็บ

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

ปกติเป็นคนมองโลกแง่ดี แต่ไม่ได้มองโลกสวย เพื่อให้ดูดี

มาถึงวันนี้ สุดทนแล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อโลกแห่งความเป็นจริง สะท้อนตัวตนของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ความสามารถในแง่การบริหารและจัดการ ทำให้ดูด้อยค่าอย่างน่าสมเพชเวทนา

ไม่แปลกใจเลย ทำไมเด็กคนรุ่นใหม่ถึงไม่ให้ราคา และคิดเตลิดถึงขั้นอยากย้ายประเทศ สร้างกลุ่ม independent

ถือเป็นวิบากกรรมมหึมาที่ทุกคนต้องฝืนจำยอม

อีกอย่าง โควิด-19 ได้ทำลายบรรยากาศ work all day, play all night ของประเทศไทยจนดูเหงาหงอย ไร้ชีวิตชีวา

เหมือนที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “กูรูหุ้นไทย” ตอกย้ำถึง “ความล้มเหลวของรัฐบาล” ดังตอนหนึ่งที่ว่า…

…ถึงเวลานี้เอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลายต่างก็อยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาเรียกร้องที่จะเข้ามาช่วยหาวัคซีน เพื่อฉีดให้กับพนักงานหรือลูกค้าที่กำลังต้องการวัคซีนอย่างรีบด่วน

แต่กว่าจะได้รับ “อนุมัติ” หรือ “เปิดทางสะดวก” ก็ดูเหมือนว่า จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ “มติมหาชน” หรือเสียงเรียกร้องจากคนที่เดือดร้อนดังจน “รัฐ” รับไม่ไหวแล้ว

ปัญหาการบริหารจัดการของไทยในเรื่องโควิดนั้น อยู่ที่การไม่ได้กำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้น ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ เป็นนักวิชาการด้านที่เกี่ยวกับเชื้อโรค หรือการระบาด แต่คนที่ตัดสินใจเป็น “นักการเมือง”

ส่วนคนที่ปฏิบัติเป็น “ข้าราชการ” ทั้งหมดนั้นค่อนข้างสูงอายุ และไม่ได้มีประสบการณ์บริหารจัดการแบบสมัยใหม่ที่ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการเอาชนะหรือประสบความสำเร็จ

ซึ่งกรณีแบบนี้เป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน การกำหนด priority หรือภารกิจสำคัญก่อนหลังเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แก้ปัญหาวันต่อวัน และคิดเฉพาะในสิ่งที่ตนรู้และเข้าใจ

ไม่มีคนที่ “เก่ง” และมีประสบการณ์พอ เป็นที่ยอมรับมาเป็น “แม่ทัพ” ที่จะนำการ “ต่อสู้” กับโควิดอย่างแท้จริง

ความผิดพลาดในการจัดการเรื่องโควิด นอกจากมีคนเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่หนักมาก เราต้องกู้เงินมหาศาลหลายแสนหรือล้านล้านบาทมาช่วยคนที่ถูกกระทบโดยโควิดไม่รู้กี่รอบ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร

คนจำนวนมากที่ไม่มีรายได้ ต้องกู้เงินมาใช้จ่ายช่วงโควิดระบาดก็มีหนี้สินมากขึ้น และก็ต้องชดใช้คืนด้วยเงินที่ทำมาหาได้หลังโควิดสงบ ดังนั้น การบริโภคที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจก็จะลดลง ทำให้อนาคตของไทยอาจไม่สดใสไปอีกนาน

ยิ่งแก้ปัญหาโควิดช้าลงเพราะวัคซีนมาช้า ความเสียหายก็เพิ่มพูน ทำไมเราต้องประหยัดเรื่องการนำเข้าหรือซื้อวัคซีนมาก ๆ และหลากหลาย เพื่อเร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และลดเวลาการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

ทำไมเราไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มอีกไม่กี่หมื่นล้านบาทเพื่อประหยัดเงินจากความเสียหายทางเศรษฐกิจเดือนละ 1 แสนล้านบาทจากการขาดแคลนวัคซีน ?

คนที่เกี่ยวข้องบางคนอาจบอกว่าถึงมีเงินซื้อก็ไม่มีของ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย เพราะประเทศอื่นเพิ่งสั่งซื้อกลับได้วัคซีนที่บอกว่าหายากก่อนไทย

บางทีถ้าเรา “คิดใหม่” และเลือกใช้คนที่มีความสามารถ หรือมีบารมี หรือมีเงินพร้อมจ่ายมากพอ และปล่อยให้เอกชนเป็นคนทำแบบเสรีไม่ยึดติดระเบียบต่าง ๆ ถ้ามีปัญหาก็แก้ไขกันได้ เราอาจจะได้วัคซีนมาแล้ว

“สงครามโควิด” ในไทยกำลังขึ้นสู่จุด peak ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในโลกจริงนั้น ถนนหนทาง ที่ทำงาน ห้องเรียน และห้างร้านว่าง เพราะ “ถูกปิด” แต่ใน “โลกเสมือน” ที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือนั้น ทุกอย่างกำลังดังอื้ออึงไปหมด

“เสียง” จากประชาชนที่ลำบากยากเข็ญ บางคนกำลังจะตาย คนจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือ “อย่างสิ้นหวัง”

คนที่ไม่ได้เดือดร้อนมากนักก็อาจจะ “ร้องไห้” นี่หรือประเทศไทยที่แสนสบายและมีความสุขที่สุดในโลก ?

จะมีคนที่ไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ไหม ? โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ มีหน้าที่ที่ต้องแก้ปัญหา ทำให้นึกถึงเพลงในหนัง “Les Miserables” ที่พูดถึงผู้คนที่กำลังทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสว่า “Do you hear the people…(cry ?, sing ?,…)” ในวงเล็บคือสิ่งที่แต่ละคนสามารถเติมเองได้