New Normal ยุคโควิด กลยุทธ์สื่อสารสไตล์ ‘สิงคโปร์’

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

 

วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ระลอก 4 ในเมืองไทย ไม่มีใครตอบได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ลากยาวไปอีกกี่เดือน

การบริหารเตียงรักษาผู้ป่วย การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทย เกิดการตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคม เมื่อวัคซีนไม่มาตามนัด ผู้มีอำนาจ “แทงม้า” (วัคซีน) ตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง

และหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน กลายเป็นประเด็น “ปริศนา” ที่สังคมพยายามทวงถามคำตอบ

ฝ่ายบริหารระดับรัฐมนตรีไปจนถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไปคนละทางกับฝ่ายสาธารณสุข

การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับซิโนแวค ยังอึมครึมว่าทำได้-ไม่ได้ อันตราย-ไม่อันตรายอย่างไร กลายเป็นดราม่าให้คนไทยเป็น “หนูทดลอง”

หากมองการรับมือโควิด-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกเหนือจากการรายงานตัวเลขติดเชื้อรายวัน-รายสัปดาห์ว่าประเทศไหนติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ตามตัวเลขของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)

การรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าสื่อสารกับพลเมืองในยามวิกฤตได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ถือเป็น “ตัวแบบ” เล็ก ๆ ง่าย ๆ ที่รัฐบาลไทยน่าเอาแบบอย่าง

โดยเริ่มจากความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ต่อยอดถึงวิธีการสื่อสารกับพลเมืองสิงคโปร์ที่ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์พยายามฉายความคิด new normal ว่า โควิด-19 จะไม่หมดไปจากชีวิต และต้องอยู่ร่วมกับไวรัสให้ได้อย่างปกติใหม่ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อให้น้อยลง

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น YouTube ในช่อง gov.sg เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพลเมือง

ผลิต content ให้ความรู้เกี่ยวกับคนวัยสูงอายุ วัยทำงาน มีครอบครัว คนรุ่นใหม่ ผ่านมิวสิกวิดีโอ หรือคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่ดูแล้วไม่น่าเบื่อ

ตัวอย่าง คลิปที่ชื่อว่า Together, towards a new normal เปิดฉากคลิปด้วยแอร์โฮสเตสในชุดสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ยืนต้อนรับที่สนามบินชางงี เพื่อ “บรีฟ” การใช้ชีวิต new normal ผ่านตัวละครอื่น ๆ ที่ทยอยเปิดหน้าร้องเพลงในท่อนถัด ๆ ไป

ในคลิปดังกล่าวเพียงคลิปเดียว บอกครบทุกเรื่อง ทั้งวิธีใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบ test kit ด้วยตัวเองที่บ้าน การพก Token คล้าย ๆ พวงกุญแจเพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันไปที่ไหนมาบ้าง โดยไม่ต้องสแกนมือถือแบบ “ไทยชนะ” และชวนให้คนไปฉีดวัคซีนในคอนเซ็ปต์

LET’S TEST

LET’S TRACE

LET’S VACCINATE

หรืออีกคลิปหนึ่งใช้ชื่อว่า Let’s Get Vaccinated #IGotMyShotSG ชวนให้คนรุ่นใหม่ไปฉีดวัคซีน เปิดคลิปด้วยการให้ YouTuber สิงคโปร์ที่เคยติดโควิด-19 มาเล่าประสบการณ์แล้วค่อย ๆ ปูเรื่องไปสู่การฉีดวัคซีน

มีนักเทคนิคการแพทย์ ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา มาพูดถึงความเป็นมาของวัคซีนตัวหลักที่ใช้คือชนิด mRNA

ใช้ “หมอฉุกเฉิน” มาเล่าถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีน

ใช้บาริสตา-นักแสดงวัยรุ่นพูดถึงผลข้างเคียงการฉีดวัคซีน เพื่อสื่อสารว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกัน

เวลา 1 นาที 30 วินาทีของคลิป คนก็เข้าใจได้ทุกอย่าง

และเนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ ทั้งชาวจีน-ชาวมาเลเซีย-ชาวอินเดีย จึงมี subtitle เพิ่มขึ้นมา 3 ภาษา คือ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ ภาษาทมิฬ

ยังมีรายการ Expert Explain for student นำดาราที่มีบทบาทเป็น “แม่” ในชีวิตจริงมาคุยกับ “หมอ” เรื่องโควิด-19 เพื่อสื่อสารไปยังเด็กนักเรียน

มีรายการบันเทิง “ภาษาจีน” ที่สอดแทรกเรื่องโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุชาวจีนโดยเฉพาะ

แค่เรื่องการ “สื่อสาร” กับพลเมือง “สิงคโปร์” ยังไปในแนวทางเดียวกันเป็นเอกภาพและมีคุณภาพ

ตัดกลับมาที่ YouTube หรือช่องทางโซเชียลอื่น ๆ ของรัฐบาลไทยอย่าง “ไทยคู่ฟ้า” ที่ใช้ในการ “สื่อสาร” กับพลเมืองไทย จะพบความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

เพราะมีเพียงแค่การแถลงผลประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) การแถลงของโฆษกรัฐบาล การแถลงของนายกรัฐมนตรี เป็นหลัก

แต่การโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนจริง ๆ ไปแทรกอยู่ใน “โฆษณา” สั้น ๆ ทางโทรทัศน์ บนรถไฟฟ้า ในช่วงจังหวะที่คนออกนอกบ้านน้อยลง และคนเปิดดูโทรทัศน์น้อยลง

อีกทั้ง ช่องทางการเผยแพร่คลิปวีดีโอโฆษณาเชิญชวนให้คนฉีดวัคซีนของคนไทย ไม่ได้อยู่ในช่องหลักของรัฐบาล แต่ไปอยู่ในช่อง Youtube ของกรมควบคุมโรค และ Tiktok ในรูปแบบ “กึ่งทางการ” มากกว่า

แม้ว่า การรณรงค์ให้คนไทยไปฉีดวัคซีนในเวลานี้ อาจจะยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับ วัคซีนยังมีไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ ท่ามกลางเสียงตำหนิรัฐบาลเต็มเฟซบุ๊ก – โซเชียลมีเดียในเมืองไทย


แต่รัฐบาลก็น่าจะลองนำมาใช้