บทเรียนประกันโควิด เมื่อ “เจอ จ่าย จบ” พ่นพิษ

ในที่สุด “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย” ก็ต้องแจ้งยกเลิกการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” (COVID 2 in 1) หลังจากถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ รวมถึงถูกทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกประกาศคำสั่งนายทะเบียนให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธุรกิจประกันภัยโดยรวม

ติดเชื้อทะยานดันยอดเคลมพุ่ง

ทั้งนี้ ปมเหตุของการจะบอกเลิกกรมธรรม์ มาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทะยานขึ้นมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการเคลมประกันจะพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

โดย “อาภากร ปานเลิศ” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำนักงาน คปภ. เปิดเผยว่าปัจจุบันข้อมูลประกันภัยโควิด (ณ 30 มิ.ย. 2564) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,221 ล้านบาท จำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด 26.94 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมประกันรวมกว่า 2,051 ล้านบาท

“เฉพาะปี 2564 มีเบี้ยประกันรับรวม 4,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.99% จากสิ้นปี 2563 มีจำนวนกรมธรรม์รวม 12.65 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมประกันรวม 1,774.84 ล้านบาท ส่งผลให้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2564 ยอดจ่ายเคลมสะสมเพิ่มมาอยู่ที่ 2,050.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.38% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 645.50% จากสิ้นปี 2563” นายอาภากรระบุ

“เจอ จ่าย จบ” ทำประกันเจ๊ง

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับค่ายประกันหลายแห่งก็คือ แบบประกันที่เรียกว่า “เจอ จ่าย จบ” ไม่คุ้มค่าที่จะขายอีกต่อไป

โดย “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น และอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า จุดบอดประกันภัยโควิด คือผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล และเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยเท่ากันทุกช่วงอายุ แต่ความจริงแล้ว ปัจจัยต้นทุนของการเคลมจะดูที่อัตราการติดเชื้อกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ

“บริษัทประกันลืมคิดถึงการ over insure ของลูกค้าไป ตั้งแต่ตอนพิจารณารับประกัน ส่งผลให้เมื่อความรุนแรงของไวรัสโควิดกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทประกันจะขาดทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะแผนเจอ จ่าย จบ” นายพิเชฐระบุ

แน่นอนว่า ไม่ใช่เฉพาะ “สินมั่นคงประกันภัย” เท่านั้น ที่เปิดขายประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” ดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ก็มีอีกหลายค่าย อาทิ บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย, บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย (เดิมชื่อสินทรัพย์ประกันภัย) เป็นต้น ที่ขายเช่นกัน

แห่เลิกขายแบบเจอ จ่าย จบ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันค่ายประกันเหล่านี้ ได้ปรับรูปแบบความคุ้มครอง โดยทยอยเลิกขายแบบ “เจอ จ่าย จบ” กันแล้ว และไม่มีรายใดที่ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ที่จำหน่ายไปแล้ว แล้วประกาศคืนเงินค่าเบี้ยให้แก่ลูกค้าเช่นเดียวกับกรณีของ “สินมั่นคงประกันภัย”

โดย “ฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย บอกว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลให้การรับประกันภัยโควิดจำต้องมีการประเมินความเสี่ยงภัยใหม่ จากเดิมที่ธุรกิจใช้โมเดล “อู่ฮั่น” ประเมิน ก็ต้องปรับไปใช้โมเดลผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งโลก ผนวกความต้องการในความคุ้มครองของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะความกังวลในปัญหาเตียงขาดแคลน หรือถูกปฏิเสธการรักษา ดังนั้นแนวโน้มของเงื่อนไขความคุ้มครองประกันโควิด จึงมุ่งเน้นรองรับการรักษาพยาบาลมากกว่า

“ลูกค้าวิริยะฯที่กรมธรรม์ประกันภัยโควิดใกล้หมดอายุ หรือลูกค้ารายใหม่ จะได้พบกับกรมธรรม์โควิดใหม่ที่บริษัทจะเปิดตัวช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง” นางฐวิกาญจน์กล่าว

ถือเป็นบทเรียนของธุรกิจประกันที่ต้องตระหนักให้มากขึ้น เพราะชื่อเสียงถ้าได้รับผลกระทบไปแล้วจะฟื้นกลับมาได้ยาก โดยเฉพาะปัจจุบันโซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนส่งต่อข้อความกันได้เร็วไว ก็ยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อแบรนด์ สะท้อนได้จากราคาหุ้นของ “สินมั่นคงประกันภัย” ที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่รวมถึงยอดขายประกันที่จะสะท้อนออกมาหลังจากนี้


ทั้งนี้ คงต้องติดตามว่า บริษัทจะเรียกความเชื่อมั่นต่อแบรนด์กลับมาอย่างไรต่อไป ซึ่งคงจะต้องออกแรงมากพอสมควรเลยทีเดียว