ปรับตัวสู่โลกออนไลน์

ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

มานั่งนึกเล่น ๆ ว่า เมื่อก่อนทำไมคนถึงไม่ค่อยสนใจเรียนทางออนไลน์กัน ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกของหลาย ๆ ประเทศต่างเปิดคอร์สออนไลน์ให้เรียนกันค่อนข้างมาก

ทั้งในระดับปริญญาโท

ปริญญาเอก

รวมถึงหลักสูตรเฉพาะทางต่าง ๆ

แต่กลับไม่ค่อยมีผู้สนใจเรียน ทั้งนั้น อาจเป็นเพราะนักศึกษาต่างต้องการไปเรียนที่มหา’ลัยมากกว่า เพราะเป็นการเปิดประสบการณ์ตรงสำหรับการศึกษาต่อในต่างประเทศ

ที่ไม่เพียงจะมีเพื่อนใหม่ ๆ

ยังทำให้มีคอนเน็กชั่นกับเพื่อนต่างแดนด้วย เพราะหลังจากเรียนจบ เพื่อน ๆ เหล่านี้อาจชักชวนไปทำงาน ตั้งบริษัท หรือแนะนำให้ไปสมัครงานตามประเทศต่าง ๆ

มองเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องที่ดี

แต่ในความเป็นจริง การที่พ่อแม่ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกแต่ละครั้งใช้เงินค่อนข้างมาก คนที่ครอบครัวแข็งแรงคงไม่มีปัญหา

แต่คนที่ครอบครัวไม่แข็งแรง

สถานะการเงินไม่ดีมาก การส่งลูกไปเรียนเมืองนอกแต่ละครั้งอาจต้องขายที่ขายทางแบบคนสมัยก่อนกันเลยทีเดียว ยกเว้นแต่ว่าลูกหลานของเราสอบชิงทุนของรัฐบาลได้

หรือมีทุนของสถานทูตต่าง ๆ รับรองให้บุตรหลานไปเรียนหนังสือ ซึ่งก็ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของครอบครัวนั้น ๆ ไป

แต่หลังจากเกิดมหันตภัยไวรัสร้ายแพร่ระบาดไปทั่วโลก ปรากฏว่าหลายมหาวิทยาลัยบนโลกใบนี้ต่างหันมาใช้วิธีการเรียนทางออนไลน์แทน

มีเวลานัดหมายชัดเจน

ตอนเรียนก็สามารถโต้ตอบผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้อย่างไม่น่าเบื่อ จนทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าการเรียนทางออนไลน์ก็สนุกไปอีกแบบ

ตื่นมาก็เรียนได้เลย

ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

ประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง

ยกเว้นค่าน้ำค่าไฟที่บ้านเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น

จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันการเรียนรู้แห่งหนึ่งออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนคอร์สออนไลน์ และจากห้องเรียนเสมือนจริงสูงถึง 70% ทั้งยังทำท่าว่าตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะมีคนเรียนประมาณ 20% เท่านั้น

ผมเห็นตัวเลขเหล่านี้ก็ไม่รู้สึกแปลกใจอะไร

แต่ที่แปลกใจ น่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียนมากกว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนการเรียนออนไลน์มักจะเป็นนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก หรือผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป

ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ

หรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำ

แต่ตอนนี้เนื้อหาที่เรียนต่างเกี่ยวข้องกับอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร+เบเกอรี่, การเกษตร, ปลูกกล้วยไม้, เลี้ยงปลาเศรษฐกิจ, ปลาสวยงาม และอื่น ๆ อีกมากมายที่เรียนแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพได้เลย

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบก็อย่างที่ทราบ ๆ กัน เพราะเศรษฐกิจโลกอันส่งผลต่อเศรษฐกิจของบ้านเราอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดจากมหันตภัยไวรัสร้าย จนทำให้หลายบริษัทปิดตัวลง

หลายบริษัทเลิกจ้างพนักงาน

หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

หรือหลายบริษัทลดขนาดขององค์กรลง จนทำให้ต้องตัดความจำเป็นบางส่วนออกไป แล้วหันไปจ้างเอาต์ซอร์ซให้มาช่วยทำงานแทน

หรือไม่บางบริษัทก็ใช้เทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วย

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ความสนใจของผู้คนไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งไหน ต่างพยายามเสาะแสวงหาความรู้ เพื่อนำอาชีพที่ร่ำเรียนจากโลกออนไลน์มาเลี้ยงตัว และครอบครัวให้ได้ในที่สุด

ซึ่งผิดกับเมื่อก่อนมาก

ใครเล่าจะเชื่อว่า นักบิน, สจ๊วต และแอร์โฮสเตสจะตกงานกะทันหัน และใครเล่าจะเชื่อว่าบุคลากรเหล่านี้จะหันมาให้ความสนใจในเรื่องของอาชีพออนไลน์

หรือใครเล่าจะเชื่อว่า ไกด์, ธุรกิจบริการโรงแรมทุกฝ่ายจะตกงาน เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกัน ธุรกิจท่องเที่ยวของเมืองไทย และหลายประเทศทั่วโลกที่มีความสวยงามของธรรมชาติเป็นจุดขาย

แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับไม่มีนักท่องเที่ยวเลยไกด์ก็ไม่รู้จะทำอะไร ?

พนักงานบริการของโรงแรมต่าง ๆ ก็ไม่รู้จะตื่นขึ้นมาทำอะไร ?

ผมถึงบอกว่า มหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้มันเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และเปลี่ยนให้คนที่อยู่สุขสบายกลายเป็นคนลำบากทันที

คนปรับตัวได้ก็อยู่รอด

แต่สำหรับคนที่ปรับตัวไม่ได้ก็อย่างที่เราเห็นตามข่าวต่าง ๆ

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจหรอกที่ทำไมคอร์สออนไลน์จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคอร์สที่เกี่ยวกับอาชีพ หรือแม้แต่ยูทูบเบอร์ที่นำเสนอเกี่ยวกับการทำอาหารต่าง ๆ ก็มียอดวิวเป็นล้าน ๆ วิว

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ตอนนี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว

และทำท่าว่าจะไปในแนวทางนี้อีกนาน

ไม่เชื่อลองติดตามดู ?