น่าเป็นห่วง “สังคมสูงวัย” แนวโน้มประชากรของไทย

คนสูงอายุ
Healthy aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในเดือนตุลาคมมีผู้ที่เกษียณอายุหลายคนที่คาดหวังว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือให้เป็นประโยชน์และมีความสุขให้มากที่สุด ซึ่งผมจะขอให้ข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุอย่างคร่าว ๆ แต่จะขอประเมินภาพใหญ่ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับแนวโน้มการแก่ตัวอย่างรวดเร็วของประชากรของไทยซึ่งจะต้องเร่งรีบแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป

เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว คำถามที่สำคัญคือน่าจะมีอายุยืนต่อไปอีกกี่ปี ซึ่งสถิติในประเทศพัฒนาแล้วพบว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอายุ 60 ปีจะมีอายุคาดเฉลี่ย 26 ปี ซึ่งสูงที่สุดในโลก สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ในยุโรปนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 23-25 ปี สำหรับประเทศไทยนั้นผู้ที่อายุ 60 ปีจะมีอายุคาดเฉลี่ยเท่ากับ 21 ปี

กล่าวคือจะเสียชีวิตเฉลี่ยอายุ 81 ปี โดยจะมีส่วนต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงประมาณ 5 ปี แปลว่าผู้ชายไทยที่ปัจจุบันอายุ 60 ปีนั้น น่าจะอายุยืนถึงประมาณ 78-79 ปี และผู้หญิงประมาณ 83-84 ปี

หากต้องการจะมีอายุยืนมากกว่านั้น ก็ควรอ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2018 ซึ่งอาศัยข้อมูลการดำเนินชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้หญิง 78,865 คน และผู้ชาย 44,354 คน โดยติดตามพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเวลา 27 ปี มีข้อสรุปว่า หากสามารถปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อดังต่อไปนี้ ผู้หญิงจะอายุยืนขึ้นอีก 14.1 ปี และผู้ชายจะอายุยืนขึ้นอีก 12.1 ปี ได้แก่

1.กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

2.ออกกำลังกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 30 นาที

3.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน หรือผอมเกินไป (BMI ไม่ต่ำกว่า 18.5 ไม่สูงกว่า 25)

4.ดื่มไวน์ได้วันละไม่เกิน 1 แก้วสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย

5.ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้เป็นการคำนวณอายุคาดเฉลี่ยของบุคลากรดังกล่าวที่มีอายุ 50 ปี ดังปรากฏในตารางข้างล่าง

นักวิจัยชี้ว่าการปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อนั้น ข้อที่ทำได้ยากที่สุดคือการควบคุมน้ำหนัก กล่าวคือมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ได้ เนื่องจากมีจำนวนผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การดูแลสุขภาพนั้นย่อมมีความสำคัญอย่างมากต่อตัวของผู้สูงอายุเอง แต่เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการแก่ตัวของประชากรที่กำลังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออนาคตของประเทศและของเศรษฐกิจไทย ซึ่งผมเห็นว่าจะต้องมีมาตรการออกมาจัดการกับปัญหาการแก่ตัวอย่างรวดเร็วของประชากรอย่างเร่งด่วน และขอสรุปประเด็นปัญหาโดยอาศัยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2563 ดังนี้

1.ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี หรือมากกว่า) จำนวน 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 20% ของประชากรทั้งหมด โดยประเทศไทยใช้เวลาเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เพียง 17 ปี ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีเวลาเตรียมการมากถึง 50-100 ปี

2.ปี 2562 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากกว่าเด็ก และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 3.5% ต่อปี ในขณะที่ประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-49 ปี) จะลดลงจาก 43 ล้านคนในปี 2563 เหลือ 36 ล้านคนในปี 2583 ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนประชากรผู้อายุเพิ่มขึ้นประมาณ 420,000 คน ในขณะที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 587,000 คน

3.ในปี 2563 (ที่ COVID-19 เริ่มระบาด) มีคนเกิดมากกว่าคนตายเพียง 85,930 คน คิดเป็นอัตราการเพิ่มประชากรเพียง 0.12% ต่อปีเท่านั้น และผมเชื่อว่าในปีนี้ที่ COVID-19 ระบาดหนักมากขึ้นและเศรษฐกิจยังตกต่ำอยู่ จำนวนผู้เกิดใหม่ก็ยังจะไม่น่าเพิ่มขึ้นได้มากนัก แม้ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจาก COVID-19 คงจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

4.หากแนวโน้มในอนาคตเป็นไปเช่นในอดีต ก็คาดการณ์ว่าอัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรสูงอายุจะลดลงจาก 3.6 คน ณ ปี 2563 เหลือเพียง 1.8 คน เพราะจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8 ล้านคน ในขณะที่คนในวัยทำงานจะลดลงประมาณ 7 ล้านคน

5.ตัวเลขจำนวนประชากรที่เป็นข้อมูลของสภาพัฒน์ โดยอ้างแหล่งที่มาจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าประชากรของไทยลดลงในปี 2563 เท่ากับ 66.18 ล้านคน ต่ำกว่าจำนวนประชากรในปี 2562 คือ 66.56 ล้านคน ดังปรากฏในตาราง

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดของ COVID-19 ในปี 2564 นี้ ไม่ได้ดีไปกว่าปี 2563 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ประชากรของประเทศไทยจะลดลงไปอีกในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ ที่ประเมินว่าประชากรของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2573

ปัญหาการลดลงของประชากรนั้นจะต้องรีบแก้ไข เพราะเวลาน่าจะเหลือน้อยมากแล้ว การทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดีจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอาจเป็นการชะลอปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ย่อมจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ความต้องการมีลูกที่ลดลงอย่างมาก และน่าจะเป็นแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปอีกนาน หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นระบบออกมาแก้ไข ซึ่งผมจะขอเขียนถึงแนวทางส่งเสริมให้อัตราการเกิดใหม่สูงขึ้นในตอนต่อไปครับ