โอกาส Soft Power ไทย อย่าปล่อยให้หลุดมือ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

 

อย่างน้อย ๆ ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันที่ 22 ตุลาคม 2564

รัฐบาลไทยตั้งเป้าใช้เป็น “soft power” ส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว เป็นสินค้าส่งออก สาระสำคัญของบันทึกดังกล่าวในระยะเวลา 5 ปี อาทิ เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการภาพยนตร์ 1 ครั้ง และส่งคณะผู้แทนภาพยนตร์ไปร่วมกิจกรรม

สนับสนุนให้องค์กรภาพยนตร์และบุคคลของทั้ง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยน ร่วมมือ และแบ่งปันข้อมูลอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้ผู้สร้างภาพยนตร์และภาพยนตร์ของทั้ง 2 ประเทศมีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้น

เพราะตลาดภาพยนตร์ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าการขายตั๋วอยู่ที่ 64,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 337,050 ล้านบาท

ย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หนังไทย-ละครไทย หลายเรื่องเข้าตีตลาดจีน ภาพยนตร์อย่างฉลาดเกมส์โกง ค่าย GDH ดังทะลุแผ่นดิน ทำเงินหลายร้อยล้านบาท

9 ปีที่แล้วมีภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่ง เป็น “หนังตลก” ถ่ายทำในประเทศไทย สร้างกระแสให้ไทยฟีเวอร์ในหมู่คนจีน ต่างเดินทางมาตามรอย หนังเรื่องนั้นชื่อ Lost in Thailand สร้างความคึกคักทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่อง

ขณะที่ในปี 2563 มีการสำรวจในหัวข้อ “China Thailand Travel Sentiment Survey 2020” โดย ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ (C9 Hotelworks) และเดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ (Delivering Asia Communications) ถามความเห็นนักท่องเที่ยวจีนว่า จุดหมายปลายทางในประเทศไทยที่เป็นที่นิยมสำหรับการพักผ่อนมากที่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน ได้แก่ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, เกาะสมุย และพัทยา โดยกว่า 75% เลือกเดินทางกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่

และยิ่งในยุคโควิด-19 คนทั้งโลกติดล็อกอยู่กับบ้าน อยู่แต่ในประเทศของตัวเอง ปรากฏว่าใน youTube มีคลิปประเภท walk tour ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งโตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน แม้กระทั่งกรุงเทพฯยังมีฝรั่งทำคลิปบรรยากาศช่วงล็อกดาวน์กลางสยามสแควร์ที่เงียบเหงา

ส่วนคนไทยที่อยู่ต่างประเทศก็หันมาผลิตคอนเทนต์ walk tour แบบไลฟ์สด ทำตัวเหมือนไกด์นำเที่ยว แนะนำสถานที่ต่าง ๆ ให้กับคนไทยที่ติดล็อกไม่ได้ออกต่างประเทศ คอนเทนต์เหล่านี้ยอดวิวพุ่งกระฉูด นี่คือตัวอย่างของคนที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ไปไหนไม่ได้…

ตัดกลับมาที่นโยบายสร้างอุตสาหกรรม soft power ไทย เมืองไทยยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถแทรกเข้าไปในละคร-ภาพยนตร์ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารการกิน เหลือเพียงทำให้มีคุณภาพ ต้องทุ่มทุนสร้าง โครงสร้างพื้นฐานในการผลิตอุตสาหกรรมต้องครบถ้วน

รัฐบาลต้องส่งเสริม ไม่ควรมีแค่นโยบายสวย ๆ มีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรม

หากเราวัดจากเกาหลีใต้ ประเทศต้นแบบ soft power เขาทำก่อนไทยมานานมาก และไปไกลกว่ามาก

ปี 2002 หรือ 19 ปีที่แล้ว เกาหลีส่งออกหนังเรื่อง Winter Love Song เข้ามาดังในเมืองไทย คนไทยก็ตามรอยไปที่เกาะนามิ ตามมาด้วย แดจังกึม ที่มีแต่ฉากอาหารสวย ๆ ก็ดังเป็นพลุแตกในบ้านเรา

“อี ชางดอง” กลายเป็นผู้กำกับหนังคนแรกของเกาหลี ที่ประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน ตั้งให้เป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวช่วงปี 2003-2004 เพราะวงการหนังเกาหลีต้องการคนที่เข้าใจ-รู้จริงมาส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัง ปูพื้นฐานจนถึงปัจจุบันจนหนังเกาหลีคว้ารางวัลออสการ์คือ เรื่อง Parasite

ในยุค 90 วัยรุ่นไทยตอนนั้น J-pop J-rock ดังระเบิด แต่จู่ ๆ ก็ถูกตีตลาดโดย K-pop

Wonder Girls-Girls Generation-Super Junior-2PM เกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์เกาหลีใต้ ตีตลาดโลกมานับทศวรรษก่อนถึงยุค Black Pink ที่มี “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” เป็นหนึ่งในสมาชิก เมื่อเธอออกซิงเกิลใหม่ดังทั่วโลกในพริบตา

รัฐบาลรีบคว้าโอกาสประกาศสนับสนุนเยาวชนไทยที่มีความสามารถ อ้างถึง “ลิซ่า” แต่ในความเป็นจริงถ้าค่าย YG ไม่มาแคสติ้งที่เมืองไทย ใช้โครงสร้างพื้นฐานในไทยเพียว ๆ โอกาสจะดังระดับโลกแทบเป็นศูนย์

ดังนั้น จึงบอกว่าอย่างน้อยเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลทำความร่วมมือกับจีนทำ soft power

ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งคลายล็อก ยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด และไฟเขียวให้ 46 ประเทศเข้าประเทศไทยไม่ต้องกักตัว แม้นักท่องเที่ยวยังเดินทางมาไม่ได้เท่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่เราสามารถปั้นหนัง ปั้นละคร ฯลฯ ให้คนอยากกลับมาท่องเที่ยวเมืองไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัด แต่อย่าให้กฎหมาย ระเบียบที่ล้าหลังมาฉุดรั้ง


เพื่อมุ่งหน้าปั้นอุตสาหกรรมที่เป็น soft power อย่างจริงจัง อย่าให้โอกาสไทยหลุดลอยไปอีก