สุดยอดอาเซียน ที่ไม่มี “เมียนมา”

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยไม่มีผู้นำทหารที่มาจากการรัฐประหารในประเทศอย่าง “เมียนมา” เข้าร่วมประชุมและถือเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้แนวคิดหลัก “We care, We prepare, We prosper” ซึ่งถือเป็นปีที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศเมียนมา

ก่อนหน้านั้น หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นกรณีฉุกเฉินสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ตุลาคม ประเทศบรูไน ในฐานะประธานกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้ออกแถลงการณ์ จะไม่เชิญผู้นำทหารที่ก่อการรัฐประหารขึ้นในเมียนมา (พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย) มาเข้าร่วมประชุมสุดยอด ด้วยเหตุผลที่เป็นที่เข้าใจกันดีว่า รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมปฏิบัติตามประเด็นที่อาเซียนเห็นชอบร่วมกันในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา 5 ข้อ ได้แก่

1) การยุติความรุนแรงและการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ 2) การหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา 3) ผู้แทนพิเศษ หรือ special envoy ของประธานอาเซียน (บรูไน) จะช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการหารือโดยการสนับสนุนของเลขาธิการอาเซียน 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทาง AHA Centre หรือศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ และ 5) ผู้แทนพิเศษและคณะจะเดินทางไปเมียนมา เพื่อพบกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยประเด็นสำคัญทั้ง 5 ข้อ ซึ่งอาเซียนหวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประธานอาเซียน (บรูไน) ได้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders’ Meeting) สิ้นสุดลง ในวันที่ 24 เมษายน 2564 ณ กรุงจาการ์ตา หรือนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบครึ่งปีที่ “เมียนมา” ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของอาเซียนแต่อย่างใด

ประเทศไทยในฐานะประเทศที่ค่อนข้าง “ใกล้ชิด” กับรัฐบาลทหารเมียนมา ได้วางตัวด้วยการรักษา “ระยะห่าง” และ “ไม่ออกหน้า” กรณีเมียนมา กับข้อเรียกร้องของสมาชิกอาเซียนชาติอื่น ๆ โดยจะเห็นได้ว่าในคราวที่ บรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ ของ “ประธาน” ในวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมานั้น ฝ่ายไทยได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “Friends of the Chair” ด้วยการยึดหลัก D4D หรือ 1) การยุติความรุนแรงในเมียนมา 2) การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 3) การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง 4) การหารือ (dialogue)

และสรุปตบท้ายข้อเสนอว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนา (development) อย่างยั่งยืนในเมียนมา และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

ซึ่งดู “แข็งกร้าว” น้อยกว่าแถลงการณ์ 5 ข้อของประธานอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น ผู้แทนพิเศษ special envoy ที่จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ดูล่อแหลมต่อการเข้าแทรกแซงรัฐบาลเมียนมา

แม้โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาจะออกมา “โวยวาย” แสดงความไม่พอใจที่อาเซียนไม่เชิญ ผู้นำ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ว่าเป็นการละเมิดหลักการฉันทามติ และหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่รัฐบาลทหารเมียนมาก็ได้ดำเนินการผ่อนคลายความกดดันของอาเซียน ด้วยการประกาศ “ตอบรับ” ข้อเสนอ 5 ข้อของอาเซียนมากขึ้น โดยมีข่าวว่าจะดำเนินการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน กับจะร่วมมือกับอาเซียน ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่ “คำประกาศ” ที่ไม่มีผลทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองแผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียน แต่อย่างใด