อย่าซ้ำเติมผู้บริโภค ที่เข้าไม่ถึงแหล่ง…เงินกู้

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

เรื่องการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ แทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตีกรอบเพดานดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% ต่อปี

พร้อมทั้งห้ามเก็บหนี้ส่วนที่เหลือในกรณีที่ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถ (คืนรถจบหนี้) นั้น

ยังเป็นปัญหาหนักอกกับกลุ่มไฟแนนซ์

ถึงแม้ว่าวันก่อนจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหารือ ร่วมกันหาทางออก

โดยบรรดาลีสซิ่ง สมาคมเช่าชื้อ พยายามนำเสนอหลากหลายรูปแบบ

เช่น แยกคุมดอกเบี้ยตามประเภทรถ ไม่เอาเรื่องคืนรถจบหนี้

รวมถึงขอความชัดเจนกรณีนำรถไปขายทอดตลาด ต้องเอาเงินแบ่งครึ่งระหว่างไฟแนนซ์กับเจ้าของรถ

แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปง่าย ๆ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสะเด็ดน้ำ

ทว่าผลกระทบของเรื่องนี้ ขยายไปในวงกว้างเสียแล้ว

รถรายิ่งขายไม่ค่อยดีอยู่แล้วกลายเป็นขายยากหนักขึ้นไปอีก

ยอดรีเจ็กต์สินเชื่อนับวันยิ่งพุ่งแรง กระทบกันเป็นลูกโซ่จริง ๆ

ข้อมูลจากธุรกิจเช่าซื้อบอกว่า การตีกรอบเพดานดอกเบี้ย 15%

จะยิ่งซ้ำเติมผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการลีสซิ่ง ต้องเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ผู้บริโภคก็ยากที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ สุดท้ายเหมือนผลักไสไล่ส่งให้ไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ

โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น มอเตอร์ไซค์

อย่าลืมว่ากว่า 80% ของยอดขายมอเตอร์ไซค์ซื้อด้วยเงินผ่อน

ส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่มีหลักฐานทางการเงินเพื่อประกอบการกู้ยืม

ขออนุมัติสินเชื่อด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว

ดังนั้นถ้าเสี่ยงมาก ๆ ไฟแนนซ์ก็ต้องเซย์โน โอกาสที่จะมีรถราไปทำมาหากินก็ริบหรี่

ในขณะที่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 33%

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ กำหนดเพดานดอกเบี้ย 33-36%

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปี 2560 รายงานความเสียหายของสินเชื่อรถจักรยานยนต์มีสูงถึง 37.2%

ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่ออื่น ๆ เนื่องจากยอดหนี้ต่อรายสูงกว่า ระยะเวลาผ่อนนานกว่า

รวมทั้งต้นทุนการให้บริการสูงกว่า

บมจ.ฐิติกรระบุว่า พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งระบบมีมากถึง 72,000 ล้านบาทต่อปี

จากยอดขายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศที่มีถึง 1.8 ล้านคัน

คนซื้อเงินสด 20% เป็นการเช่าซื้อถึง 80% หรือ 1.44 ล้านคันต่อปี

ปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยคันละ 40,000-50,000 บาท ถ้าความเสียหายของสินเชื่อรถจักรยานยนต์มีสูงถึง 37%

ก็เท่ากับว่า มีความเสียหายมากกว่า 20,000-25,000 ล้านบาท

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าต้นทุนในการให้บริการสินเชื่อข้างต้นเทียบกับเพดานดอกเบี้ยที่กำหนด

ไม่คุ้มกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการและกับความเสี่ยงต่อลูกหนี้กลุ่มนี้

ดังนั้นหาก สคบ.ยืนยันเพดานดอกเบี้ย 15% ต้องกระทบธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แน่ ๆ

แม้หลายเจ้าจะพยายามปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจแต่ก็ยังกระท่อนกระแท่น

บางรายอาจไม่สามารถไปต่อได้ เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ภาพรวมการเติบโตจะหดตัวอย่างรุนแรง กระทบไปยังผู้ผลิตและตลาดแรงงานในซัพพลายเชนรถจักรยานยนต์ที่มีกว่า 5 แสนคน

ซึ่งบ้านเรารถจักรยานยนต์ 75% ผลิตใช้ในประเทศ อีก 25% ส่งออก กระทบกันเป็นลูกโซ่

ที่สำคัญอย่าซ้ำเติมผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้