“กฐิน” ทานบุญที่ยิ่งใหญ่ นัย “ความสามัคคี” สุขสู่สังคม

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

 

ช่วงนี้หลายองค์กรภาคธุรกิจต่างรับเป็นเจ้าภาพจัดงานทอดกฐินตามวัดต่าง ๆ ขณะเดียวกัน พวกเราหลายคนคงได้รับการบอกบุญ และชักชวนจากหลายองค์กร และคนรู้จักที่อยู่แวดล้อมให้ไปร่วมบุญด้วย

“เทศกาลกฐิน” มีระยะเวลาเพียง 1 เดือน นับจากวันออกพรรษา เมื่อมีโอกาสได้ฟังเทศน์ที่ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ ท่าน ป.อ.ปยุตโต กล่าวไว้ในโอกาสงานกฐิน ณ “วัดญาณเวศกวัน” เมื่อหลายปีก่อน ทำให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์แท้จริง แต่ขออนุญาตนำเนื้อหาเพียงบางช่วงบางตอนมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นธรรมทาน

โดยท่าน ป.อ.ปยุตโตกล่าวว่า การทำบุญทอดกฐินมีความหมายทั้งในทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทย ในทางพระพุทธศาสนา “กฐิน” เป็นพุทธบัญญัติสำคัญในทางพระวินัย ซึ่งพระสงฆ์ผู้ได้จำพรรษาแล้วครบ 3 เดือน ในวัดเดียวกัน ถ้ามีจำนวนครบ 5 รูปขึ้นไป ก็จะได้ทำ “สังฆกรรม” ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”

ในแง่ของวัฒนธรรมประเพณี เป็นความสามัคคีพร้อมเพรียงกันแสดงศรัทธาของพุทธบริษัทในการที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อจะได้ช่วยทำนุบำรุงถวายกำลังแก่พระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นการแสดงความสนับสนุนในการที่พระสงฆ์จะได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งสังคมไทยได้ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลายาวนาน

โดยสาระสำคัญนั้น “กฐิน” ถือว่าเป็นบุญใหญ่มาก คำในทางพระพุทธศาสนาใช้คำสั้น ๆ ว่า เป็น “สังฆทาน” และเป็น

“กาลทาน”

ที่ว่าเป็น “สังฆทาน” คือ เป็นทานเพื่อพระสงฆ์ส่วนรวม ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเจ้าภาพได้นำผ้ากฐินมาวางไว้เป็นของกลางของพระสงฆ์ สุดแต่พระสงฆ์จะพิจารณา และพระสงฆ์จะมีการอุปโลกน์ มีการเสนอเพื่อแสดงมติร่วมกัน

หลังจากนั้น พระสงฆ์ยังต้องเข้าสู่ที่ประชุม มีการทำสังฆกรรมถวายผ้ากฐินเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง “สังฆทาน” หรือทานเพื่อสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญไว้ว่า “เป็นทานที่มีผลมากที่สุด”

แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็สนับสนุนให้ถวายพระสงฆ์เป็นส่วนรวม ไม่ถวายเฉพาะพระองค์ เพราะว่าในระยะยาว ผู้ที่จะธำรงพระพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

เมื่อพระสงฆ์ยังอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ ดังนั้น การถวายสังฆทานถือว่าเป็นการทำบุญ ทั้งเพื่อดำรงพระพุทธศาสนาด้วย และเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม หรือแก่ชาวโลกทั้งหมด คือ ขยายธรรมะแผ่ออกไป เพื่อความอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้ประชาชนอยู่ดี มีศีลธรรม

ส่วนในแง่ที่สอง การทำบุญทอดกฐิน เรียกว่าเป็น “กาลทาน” เป็นทานที่ถวายได้จำกัดเวลา จำเพาะในเวลาที่กำหนดไว้ คือ

“เทศกาลกฐิน” ในช่วงเวลา 1 เดือน หลังจากสิ้นสุดพรรษาไป 1 เดือนเต็ม ๆ หลังจากนั้นแล้วไม่อาจถวายกฐินได้ ก่อนหน้านั้นก็ถวายไม่ได้ “เป็นทานที่มีเวลาเฉพาะ” จึงถือเป็นทานสำคัญ

เมื่อประกอบกันด้วยเหตุผลสำคัญทั้ง 2 ประการนี้ พุทธศาสนิกชนถือว่า “การถวายผ้ากฐินนั้นเป็นทานที่มีบุญยิ่งใหญ่” และที่ประจักษ์ชัด พระสงฆ์ถึงอย่างไรต้องขวนขวายประกอบสังฆกรรมกฐินอยู่แล้ว ถ้าญาติโยมไม่นำผ้ากฐินมาถวาย พระสงฆ์ก็ต้องขวนขวายหากันเอง

และพระสงฆ์จะหาผ้ากฐินมามอบแก่กันนั้น จะทำใบ้บอกหรือจะขอไม่ได้ทั้งนั้น “กฐินจะเป็นโมฆะ” ต้องเป็นเรื่องของญาติโยมมีศรัทธาเอง มาบอกกล่าว มาแจ้ง มาจอง และนำมาถวาย

ถ้าพระไปบอก ไปชวน หรือว่าทำเครื่องหมาย ให้เลศนัยอย่างใดอย่างหนึ่ง กฐินนั้นเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ถือเป็นการร่วมศรัทธาของญาติโยม ของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าญาติโยมไม่มีศรัทธาแล้ว กฐินก็ไม่เกิดขึ้น จึงถือกันว่า กฐินนี้เป็นการแสดงความสามัคคี

รวมถึงสามัคคีในหมู่ของพระสงฆ์เอง เมื่ออยู่ร่วมกันมาแล้ว ถ้าหากญาติโยมไม่ทำผ้ามาถวาย พระต้องร่วมมือช่วยกันทำผ้าขึ้นใช้เอง โดยทุกองค์ร่วมกันทำ ทำเสร็จแล้วมี ก็นำมามอบให้แก่กัน โดยที่ตัวผู้มอบไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้เลย เป็นการแสดงความสามัคคีพร้อมใจกัน

แต่การที่ญาติโยมนำกฐินมาถวายพระ ก็ตัดขั้นตอนลำบากที่พระจะต้องทำผ้าขึ้นใช้เอง กลายเป็นความสามัคคีร่วมใจกันของพุทธบริษัท ฝ่ายคฤหัสถ์ร่วมกับฝ่ายบรรพชิต เป็นการสนับสนุนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติได้ตามพระธรรมวินัย


ความหมายที่เป็นสาระสำคัญของกฐินอยู่ที่ “ความสามัคคี” ประเพณีนี้จึงได้ขยายออกไป เป็นความสามัคคีในหมู่ญาติโยมด้วยกัน มีการนำผ้ากฐินจากจังหวัดหนึ่งไปทอดอีกจังหวัดหนึ่ง โดยเฉพาะญาติโยม กทม. นำกฐินไปทอดในต่างจังหวัด อันนี้เป็นความพร้อมเพรียงสามัคคีที่ว่า คนในเมืองก็ไปสนับสนุนช่วยคนท้องถิ่น เป็นต้น ถือเป็นความสามัคคีร่วมกันทำประโยชน์สุขสู่สังคม