นิติเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ NFT นิยาม NFT คืออะไร (1)

ศิลปะ
คอลัมน์ ระดมสมอง
ดร. ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
นักกฎหมาย สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา

 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา คริสตี้ส์ (Christie’s) ซึ่งเป็นบริษัทประมูลทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง จัดการประมูลงานศิลปะดิจิทัลชื่อ “ทุก ๆ วัน” (Everydays) และมีผู้ชนะการประมูลไปด้วยราคา 69,346,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 2.25 พันล้านบาท) นับเป็นงานศิลปะที่ได้รับราคาประมูลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

ศิลปินเจ้าของผลงานชื่อว่า คุณไมค์ วินเคิลแมน หรือที่รู้จักกันด้วยนามแฝง “บีเพิล (Beeple)” เป็นผู้ที่โด่งดังในวงการงานศิลปะดิจิทัลและมีผลงานออกมาเผยแพร่ผ่านโลกโซเชียล โดยเฉพาะอินสตาแกรมเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ชนะการประมูลจะได้รับเหรียญ NFT มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการเป็นผู้ครอบครองผลงานศิลปะชิ้นนี้อย่างถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว นักลงทุนรายนี้เข้าร่วมการประมูลผ่านช่องทางออนไลน์โดยใช้นามแฝงว่า “เมตาโควาน” (MetaKovan) และจ่ายราคาประมูลด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลอีเธอร์ (Ether)

การประมูลงานศิลปะดิจิทัลผ่านเหรียญ NFT ครั้งนี้ กลายเป็นข่าวดังที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทประมูลทรัพย์สินอนุรักษนิยมและเก่าแก่อย่าง คริสตี้ส์ ให้การสนับสนุนการขายเหรียญ NFT ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำวิธีการลงทุนในงานศิลปะดิจิทัลแนวใหม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มาใช้อย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรก

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ความนิยมในการสร้างเหรียญ NFT เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างมูลค่าให้แก่สิ่งของดิจิทัลนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งที่ก่อนเดือนตุลาคม 2563 คุณบีเพิลไม่เคยขายงานได้ราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 3,100 บาท) เลย ทั้งนี้ ก็เพราะงานศิลปะดิจิทัลประสบปัญหาว่าไม่สามารถกำหนดมูลค่าหรือราคาได้

เนื่องจากไม่สามารถบ่งชี้หรือมีกลไกที่ช่วยคัดแยกระหว่างงานต้นฉบับและผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายในการถือครองงานชิ้นนั้น ออกจากงานสำเนา และผู้ที่ถือครองงานสำเนาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้สร้างงานนั้น ๆ

ความท้าทายดังกล่าวนี้เป็นปัญหาของวงการงานศิลปะดิจิทัลมานาน เพราะการเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไฟล์สกุล JPEG RAW หรือ PDF เป็นต้น สามารถคัดลอก ทำซ้ำ และส่งต่อกันได้อย่างอิสรเสรี

ระบบการซื้อขายเหรียญ NFT ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากลองพินิจดูอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีคำถามที่ยังไม่พบคำตอบเกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญ NFT อยู่อีกมาก

ได้แก่ (1) กระบวนการสร้างเหรียญ NFT เกิดกรรมสิทธิ์ประเภทใด และเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องรายใดบ้าง (2) สถานะทางกฎหมายของเหรียญ NFT (4) ประเทศไทยมีกฎหมายกำกับดูแลการออกและซื้อขายเหรียญ NFT หรือไม่

ชุดบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอคำอธิบาย บทวิเคราะห์ และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการตามหัวข้อข้างต้น โดยแม้ว่าในบางกรณีจะไม่สามารถหาขอยุติได้ แต่น่าจะจุดประกายความสนใจและบ่มเพาะการพัฒนาหลักคิดนิติเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset law) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริงไม่มากก็น้อย รอติดตามกันนะครับ