
ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]
- มหาดไทยออกระเบียบใหม่ ตั้งคณะกรรมการชุมชน รับค่าตอบแทนรายเดือน
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
เหมือนฟ้าฝ่ากระบาลกลางลมหนาว !
ช็อกกันอีกรอบสำหรับคนท่องเที่ยวเมื่อ ศบค.ประกาศปิดระบบลงทะเบียนเข้าประเทศ Thailand Pass ในรูปแบบ Test & Go ตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2564-4 มกราคม 2565
แม้ว่าหลายคนจะเตรียมใจไว้บ้าง เพราะกระแสข่าวแพร่ออกมาตั้งแต่เช้าวันที่ 20 ธันวาคม แต่ก็ไม่คาดคิดว่าสุดท้ายรัฐบาลจะเลือกวิธีปิดระบบลงทะเบียนเข้าประเทศชั่วคราวแบบนี้
เพราะที่ผ่านมารัฐบาลสร้าง “โลกสวย” ให้ผู้ประกอบการมาตลอดว่า “รับมือ” ได้ และรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาว่ามีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง
ไม่เคยพูดความจริงและยอมรับว่า ระบบการเปิดประเทศมีปัญหา แม้ว่าหลายฝ่ายจะทักท้วงและชี้ประเด็นตลอดว่า “แพลตฟอร์ม” ต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมารองรับการเปิดประเทศนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศได้จริง
โดยเฉพาะระบบ “Thailand Pass” ที่นำมาใช้แทนระบบการขอ COE หรือ Certificate of Entry ใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย ที่ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาลงทะเบียนจำนวนมาก ๆ ได้ ทำให้เกิดปัญหาการตกค้างของเอกสารที่สมัครเข้ามาจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเปิดให้บริการ จนกลายเป็นคอขวดของ “ดีมานด์” ของการเดินทางเข้าประเทศไทย
หรือปัญหาการใช้เวลาตรวจเอกสาร COE และเอกสารสุขภาพ (HCRS) โดยกรมควบคุมโรคติดต่อที่ว่ากันว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง
ปัญหาของเครื่องมือ public key infrastructure (PKI) จากระบบ digital COVID certificate ที่ไม่สามารถยืนยันอัตลักษณ์บุคคลกับเอกสาร vaccine and COVID test certificate
ไม่เพียงเท่านี้ ระบบจองโรงแรม COSTE และแอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) ก็มีปัญหาเรื่องของการดาวน์โหลดติดตั้ง และไม่สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จริง
และที่แย่หนักคือ ไม่มีระบบการติดตามผลการตรวจ ATK ซึ่งเป็นการตรวจซ้ำครั้งที่ 2 หลังจากตรวจ RT-PCR ครั้งแรกไปแล้ว 7 วัน ตามที่เงื่อนไขกำหนด
เรียกว่า ระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ “ล้มเหลว” และเป็นปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือลงทะเบียนเข้าประเทศ กระทั่งขั้นตอนการติดตามตัวนักท่องเที่ยว
ขณะที่กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ก็สร้างภาพว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงทุกวัน ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้ายความจริงเปิดเผยเมื่อโควิด “โอไมครอน” เล็ดลอดระบบคัดกรองเข้ามาระบาดในประเทศได้สำเร็จ
ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวหลายคนต่างแสดงความเห็นว่า เข้าใจว่ารัฐต้องการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ควร “ปิดประเทศ” ในรูปแบบนี้
เพราะแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นการทำลาย “ความหวัง” และส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย
“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย บอกว่า ในฟากของธุรกิจโรงแรมมองว่ามาตรการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก แค่ 1 วันโรงแรมต่าง ๆ ถูกยกเลิกการจองห้องพักมูลค่าหลายสิบล้านบาท และยอดการจองหัองพักใหม่ก็ชะงักไปด้วย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจะกลับมาเสียหายใหญ่อีกครั้ง และน่าจะเป็นครั้งที่สาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
เพราะครั้งนี้ทุกคนต่างกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพื่อที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทั้งรีโนเวตโรงแรม จ้างงานใหม่ ฯลฯ และกลับมาพร้อมกับ “ความหวัง” ว่าธุรกิจจะกลับมาพลิกฟื้น
แต่สุดท้าย “ความหวัง” ก็ถูกทำลายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า
ขณะที่ผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งฝากแมสเซจถึง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ว่า หากยังให้อำนาจของบุคลากรทางการแพทย์ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ และ ศบค. บริหารจัดการทั้งหมด โดยขาดผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจแบบนี้เศรษฐกิจของประเทศล่มสลายแน่
เพราะทุกวันนี้กลุ่มคนที่กำหนดอนาคตของประเทศนั้นเป็น “ข้าราชการระดับกลาง” ของกรมควบคุมโรคติดต่อ หรือสูงสุดคือระดับปลัดกระทรวง ที่พิจารณาออกมติแล้วนำเสนอให้ ศบค.ออกประกาศตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และถือเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี
พร้อมตั้งคำถามว่า แล้วความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากมาตรการในครั้งนี้ ใครจะรับผิดชอบ?
ประมาณว่ายุบ ศบค.เลยดีไหม ?