เบื้องหลัง “เต่าบิน”

ตู้เต่าบิน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคม บริษัทที่เจ้าของบุกเบิกก่อร่างสร้างธุรกิจด้วยตนเองจนใหญ่โต ไม่ได้มีแต่บรรดาค่ายมือถือ “เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค” (ก่อนที่บางบริษัทจะขายหุ้นเปลี่ยนมือให้กลุ่มทุนรายใหม่) แต่อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก

1 ในนั้นมี “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” รวมอยู่ด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสินค้า และบริการของบริษัทมากกว่า อาทิ ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร ต้นตำรับป้ายเวลานับถอยหลังรอสัญญาณไฟตามสี่แยกทั่วกรุงเทพฯ

“ฟอร์ท เวนดิ้ง” ในเครือฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ยังเป็นเจ้าของ “ตู้บุญเติม” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1.3 แสนตู้

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน วันนี้ “บุญเติม” ไม่ใช่แค่ตู้เติมเงินมือถือแต่ทำได้สารพัด ทั้งเติมเกม, จ่ายบิล, ดู ดวง เป็น bank agent ฝาก-ถอน โอนเงินได้ ล่าสุดยังขยับเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม ด้วย “ตู้เต่าบิน”

“เต่าบิน” ไม่ใช่ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีเมนูชา-กาแฟให้เลือกไม่กี่อย่าง แต่มีถึง 170 เมนู ทั้งร้อน-เย็น และเมนูปั่น ชงสดแก้วต่อแก้ว แม้แต่ “โจ๊ก” ก็ทำได้แล้วแต่อยู่ในขั้นทดลองจึงมีแค่ที่เดียว

คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเต่าบินว่ามาจากความต้องการที่จะเข้าสู่ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม เพราะไม่ว่าจะอย่างไร “คน” ยังต้องกิน เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนช้า ต่างจากธุรกิจเทคโนโลยีที่ทำมานานกว่า 30 ปี

“food and beverage เปลี่ยนแปลงช้า ต่างจากไอทีโทรคมนาคมที่เปลี่ยนทุกวัน แต่ยังไงคุณก็ยังต้องทาน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จะเป็น 5G หรือ 100G”

สาเหตุที่เขา และทีมงานต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติเอง เพราะลองสั่งตู้ที่ผลิตจากต่างประเทศมาใช้แล้ว พบว่ามีปัญหามากมาย โดยเฉพาะด้านเทคนิค ที่นอกจากทำได้แค่ไม่กี่เมนูแล้วคุณภาพของเครื่องดื่มแต่ละแก้วยังไม่คงที่ จึงตัดสินใจพัฒนาขึ้นเอง โดยเขานำทีมเอง ในฐานะวิศวกรมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ และชอบการประดิษฐ์ คิดค้น และลงมือทำ

“งาน R&D เป็นงานที่ต้องลงไปคุม ต้องเข้าไปดูมีเทคนิคหลายอย่างที่ผมยังถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น เรื่อง noise ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พวกนี้ผมจะเชี่ยวชาญรู้ว่าปัญหามาจากไหน คนนี้ทำแผงนี้ 4-5 วงจร คนนั้นทำอีกแผง บางทีคุยกันยากกว่าจะรู้เรื่อง เวลามีปัญหาผมต้องไปเป็นเหมือนกรรมการดูว่าปัญหามาจากไหน”

กว่าระบบต่าง ๆ จะเสถียรได้ตามมาตรฐาน ต้องแก้ไข และปรับกันใหม่นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่เทคนิคระบบการชง ปัญหาความชื้น ระบบโซดา การทำน้ำแข็ง จำนวนแก้วที่ชงกับรอบการเติมส่วนผสม และอีกสารพัด แม้ไม่ง่าย แต่มั่นใจว่าทำได้ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปี กับทีมงานอีกนับร้อยชีวิต

ใครรู้จักคุณพงษ์ชัยเป็นการส่วนตัว จะรู้ว่า “เต่า” คือชื่อเล่นของเขา ส่วน “บิน” เป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบ คนคิดชื่อคือ คุณตอง-วทันยา อมตานนท์ ลูกสาวคุณพงษ์ชัย

“น้องตองดูแลด้านการตลาด ดีไซน์เมนูเครื่องดื่มทั้งหมด โดยจ้างบาริสต้ามาปรุงสูตรให้ ถ้าพูดถึงความซักเซสเรื่องเมนู และการตลาด ผมให้เต็ม 10 แต่เรื่องตู้ต้องบอกว่าบางส่วนยังไม่นิ่ง ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

ใน “ตู้” มีชิ้นส่วนกว่า 7 พันชิ้น ถ้านับวงจรอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายพันรวมแล้วนับหมื่นชิ้นส่วน ทั้งหมดพัฒนา และผลิตโดยคนไทย-โรงงานในไทย 100% จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้ว 35 รายการ ในจำนวนนั้นมีถึงกว่า 10 รายการที่คิดค้นโดยคุณเต่า-“พงษ์ชัย”

ปัจจุบัน “เต่าบิน” ติดตั้งไปแล้วกว่าพันแห่ง ทำยอดขายได้กว่า 6 หมื่นแก้วต่อวัน ในสิ้นปีนี้น่าจะถึง 5 พันตู้ โดยตั้งเป้าไว้จะมีถึง 2 หมื่นตู้ ใน 3 ปีกับยอดขาย 1 ล้านแก้วต่อวัน

ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของคน Gen 1 ในรุ่นพ่อ รวมเข้ากับการออกแบบเมนู และการทำตลาดที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ของ Gen 2 รุ่นลูกเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ทำให้ก้าวแรกของ “เต่าบิน” ได้รับการตอบรับอบอุ่น การันตีด้วยคิวต่อแถวรอซื้อยาวเหยียดในที่ต่าง ๆ และกระแสฮือฮาในโซเชียลกับคำถามที่ว่า มี “คน” ในตู้รึเปล่าถึงชงได้สารพัดเมนูขนาดนั้น