รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โอกาสสินค้าเกษตร-อาหารไทยเจาะแดนมังกร

รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : กฤชนนท์ จินดาวงศ์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

หลังจากรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2021 ทำให้หลายภาคส่วนเล็งเห็นโอกาส ทั้งในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีมูลค่าส่งออกไปจีนกว่าปีละ 11,411 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 26.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมดของไทย

จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะช่วยสร้างโอกาสอะไรให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้บ้าง รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหารกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดจีนผ่านการขนส่งทางรางเป็นกลุ่มแรก ๆ และผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร

โอกาสแรกที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดคือ การลดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง โดยรถไฟสายนี้เริ่มจากนครคุนหมิง สิ้นสุดที่เวียงจันทน์ โดยไทยได้เตรียมจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ จ.หนองคาย รวมใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นไม่เกิน 15 ชั่วโมง และมีอัตราค่าขนส่งสินค้าอยู่ที่ 15,921.2 หยวน หรือประมาณ 3,243 บาท/ตัน เทียบกับทางถนนที่มีค่าใช้จ่าย 6,055 บาท/ตัน และใช้เวลาขนส่งประมาณ 2-3 วัน

ดังนั้น ต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยต่ำกว่าทางถนนประมาณ 2 เท่า และใช้เวลาสั้นกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงการจราจรที่แออัดจากเส้นทางขนส่งทางถนน

ประการที่สอง ช่วยรองรับความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนที่เติบโต โดยในปี 2021 จีนนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นมูลค่า 198,700 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 12.3% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีน และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 9.4% ต่อปี (CAGR 2010-2021) ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้

ประการที่สาม หนุนศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในแพลตฟอร์ม CBEC (Cross-Border e-Commerce) โดยศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ชี้ว่าในปี 2021 ผู้บริโภคชาวจีนใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้ามากถึง 812.1 ล้านคน

โดยสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กลุ่มอาหาร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัย Gen Z และ Gen Y (คิดเป็น 54.8% ของผู้ใช้ทั้งหมด) ที่ต้องการความรวดเร็วในการบริโภคสินค้า

ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารที่ผู้เขียนมองว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ คือ กลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตลาดจีน มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 19.9% และ 19.7% ตามลำดับ และที่ผ่านมาไทยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออก และอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหารที่ไทยส่งไปจีน

นอกจากนี้ สินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังมี shelf life สั้น เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรในกลุ่มอื่น ๆ จึงควรที่จะใช้เวลาในการขนส่งให้สั้นที่สุด ทั้งนี้ประเมินว่า ในระยะแรก (ปี 2022-2025) รถไฟความเร็วสูงจะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้า 2 กลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือ 4,329 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมองว่า รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวจะเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าของระยะทาง และกฎระเบียบการขนส่งทางราง ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละสินค้า

นอกจากนั้นในมุมกลับกันมองว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงอาจทำให้มีความเสี่ยงที่สินค้าจากจีนจะเข้ามาแข่งขัน ในตลาดไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าผักและผลไม้ที่มีราคาถูกกว่าไทย ดังนั้นในระยะต่อไป ผู้ประกอบการอาจต้องเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อสร้างความแตกต่างกับสินค้าจากจีน เช่น การพัฒนาสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ออร์แกนิก หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เป็นต้น