หุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ความฝัน-ความหวังสตาร์ตอัพไทย

หุ่นยนต์

ไม่นานผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส พร้อมด้วยสหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022 ครั้งที่ 25

โดยมี 45 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, จีน, ไทย ฯลฯ ด้วยการนำหุ่นยนต์หลากหลายโซลูชั่นเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งหุ่นยนต์ประเภทกีฬา, อุตสาหกรรม, การใช้ภายในบ้าน, กู้ภัย ฯลฯ โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีระหว่างประเทศ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 44 และในฐานะประธานจัดแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันหุ่นยนต์มีการจัดเวียนทั่วโลก ปีละ 1 ครั้ง สำหรับครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จัดแสดงในประเทศไทย ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตประเทศไทยเคยนำทีมไปแข่งขันได้แชมป์มาหลายต่อหลายสมัย

แต่ครั้งนั้นเรื่องหุ่นยนต์ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากไม่มีอีโคซิสเต็มรองรับ คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นภาพว่าหุ่นยนต์จะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพราะจุดเริ่มต้นขณะนั้นเป็นการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อประลองกีฬา หรือเอามาเตะฟุตบอล ดังนั้น การพัฒนาจึงไม่ได้ไปต่อ อีกทั้งผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ต่างแยกย้ายกันไปทำอย่างอื่น

จริง ๆ แล้วการผลิตหุ่นยนต์ขึ้นมากว่าจะได้ 1 ตัวเราใช้องค์ความรู้มากมาย มีเทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ลึกซึ้งมาก กว่าจะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้ อันเป็นพื้นฐานของระบบอัตโนมัติที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานอย่างอื่น ไม่ว่าจะเอาไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม

เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เราขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน ระบบอัตโนมัติจะสามารถเติมเต็มได้ แต่ทั้งนั้นยังเป็นที่กังวลว่าจะมาแทนที่แรงงานไหม เพราะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมว่ามีการผลิตรูปแบบใดมากกว่า ถ้าผลิตปริมาณมากก็จะเป็นประโยชน์

“ผมคิดว่านี่คือโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งภาครัฐเริ่มมองเห็นความสำคัญ มีกลไกในการส่งเสริมด้วยแล้ว นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยทั้งในแง่ของการเกิดสตาร์ตอัพที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลให้กับประเทศ การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม

ต่อเนื่องไปถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านหุ่นยนต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เติบโตมากกว่าในด้านการแข่งขันหรือเพียงต้นแบบที่พัฒนากันในปัจจุบัน”

หุ่นยนต์

ขณะที่กระทรวงดีอีเอสระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ตอัพจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไทย รวมถึงในด้านหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น

โดยสภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ตอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท ทั้งยังเกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 790,000 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คาดการณ์ว่าจะเติบโตในตลาดโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ในมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท จึงเป็นโอกาสดีที่ควรส่งเสริมภาคสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้กับบรรดานักวิศวกรคุณภาพ

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวต่อว่า เราต้องรีบขโมยโอกาสจากตรงนี้ ซึ่งการจัดแข่งหุ่นยนต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ต่อไปเราจะพยายามผลิตกำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในแวดวงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่คนที่เรียนจบสาขาใดสาขาหนึ่งมา หรือสาขาหุ่นยนต์โดยตรง เพราะศาสตร์ความรู้ที่จะมาผลิตได้มันมีหลายด้านมาก ทั้งเรื่องการเขียนโปรแกรม เครื่องกลต่าง ๆ

ฉะนั้น ผมมองว่าเป็นโอกาสของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งในอดีตเราแบ่งสาขา เช่น เรียนวิศวะไฟฟ้า ก็มุ่งเน้นเรื่องไฟฟ้า เรียนเครื่องกล เน้นเครื่องกล วิศวะคอมฯเน้นด้านโปรแกรม

แต่ปัจจุบันวิศวกรรมฯ เน้นเรียนข้ามศาสตร์ นักศึกษาจะเรียนหลากหลายมากขึ้น อย่างเด็กที่เป็นตัวแทนแข่งหุ่นยนต์ล่าสุด ทั้งมหิดล กลุ่มพระจอมเกล้า ฯลฯ ก็มาจากหลายสาขาวิชารวมกลุ่มกัน เพราะต้องอาศัยหลายศาสตร์ช่วยกันพัฒนา

คาดว่าอนาคตเด็กจะสนใจเพิ่มขึ้น เพราะเด็กจะมีความรู้หลายด้าน ถ้าดูในระบบประเทศไทยเรามีคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ทั้งหมด 64 สถาบัน เราผลิตกำลังคนได้ประมาณปีละ 28,000 คน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเริ่มออกหลักสูตรเอไอ หุ่นยนต์ ที่เรียกว่าแซนด์บอกซ์ คือการเร่งผลิตกำลังคนด้านนี้โดยเฉพาะ ด้วยการอาศัยความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยหลายแห่งร่างหลักสูตรร่วมกัน และแชร์อาจารย์ผู้สอน มีภาคเอกชนสนับสนุนด้วย คาดว่าในอีก 5 ปีมหาวิทยาลัยจะผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมนี้ได้อีก 10,000 คนต่อปี ก็เป็นการเร่งผลิตคนมากขึ้น

“ตอนนี้ประเทศไทยถือว่าพร้อมแล้ว แต่ต้องดูด้วยว่าทิศทางต่อไปเราจะวิ่งไปเส้นไหน หมายความว่าต้องดูทิศทางโลก เพราะประเทศอื่นเขาไปได้ไกลกว่าเรา ถ้าเราอยากลุยพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เป็นแขนกล ต้องยอมรับว่าเราไม่น่าจะทำทันประเทศอื่น เพราะระบบนิ่งแล้ว ราคาก็นิ่งด้วย

ถ้าเราเริ่มตอนนี้อาจจะเหนื่อย แต่ถ้าเราจะทำในสิ่งที่แข่งขันได้ ก็อาจจะเป็นพวกหุ่นยนต์ใช้ในบ้าน หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ที่ทุกประเทศกำลังวิ่งแข่งกันอยู่ ยังไม่มีใครไปถึงเส้นชัย ผมจึงมองว่าเรายังไปทัน ต้องช่วยกันหาแนวคิดใหม่ ๆ”

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวต่อว่า จำนวนเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะอยู่ในภาคโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น โรงงานรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แต่ในช่วงหลังมีการเติบโตนอกโรงงานอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะด้านเซอร์วิสที่อยู่ในบ้าน พวกของเล่นต่าง ๆ แล้วก็หุ่นยนต์ประเภท professional service robot เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่ง value สูงมากเกือบ 30-40% แต่มีปริมาณแค่ 10% ในตลาด คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่โตขึ้นทุกปี อีก 3-4 ปีข้างหน้าจะสูงขึ้นอีกหลายเท่า


ขณะที่หุ่นยนต์กู้ภัยก็น่าสนใจ เพราะจะเป็นตัวช่วยค้นหาคน พร้อม ๆ กับค้นหาสิ่งสำคัญ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อาคารถล่ม ไฟไหม้ ต่าง ๆ ผมคิดว่าอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สดใสอย่างแน่นอน