ถอดรหัส ESG เฟรเซอร์ส ส่งเสริมสังคมแห่งความเท่าเทียม

เฟรเซอร์ส

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความท้าทายภายในองค์กรอันเกี่ยวข้องกับการปรับตัวรับสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการถูกเทคโนโลยีดิจิทัลดิสรัปต์ การบริหารจัดการคน แรงงาน และอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้

“ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน กล่าวว่า การดำเนินเรื่อง ESG เกิดจากแรงผลักดันภายนอก ทั้งคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทจะนำแนวปฏิบัติมาทำ หรือไม่ทำก็ได้ ไม่มีใครมาบังคับ เพียงแต่ว่าใครไม่ทำ อาจตกขบวน แข่งขันกับคนอื่นไม่ได้

เฟรเซอร์ส

“ดังนั้น ทุกบริษัทต้องหันมาคิดทบทวนเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะผมคิดว่าทุกธุรกิจต่างมีส่วนสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการทำลายต้นไม้ อย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 40%

ต่อไปนี้คู่ค้า ลูกค้าจะเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่าเราได้รับผิดชอบ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างกับธุรกิจเรา ไม่เช่นนั้นลูกค้าก็จะไม่ซื้อสินค้าและบริการของเรา อีกทั้งยังพบว่าหลายประเทศเริ่มตั้งกำแพงด้านภาษีหลาย ๆ ด้าน ผมจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นแรงผลักดันมากกว่าเป็นเทรนด์หรือข้อบังคับ”

พัฒนาความยั่งยืน 3 ธุรกิจ

“ธนพล” กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่ทำกำไร แน่นอนว่าทุกแห่งเขาต้องนึกถึงกำไรก่อน เมื่อสามารถทำกำไรได้แล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการกลับมาช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไป แต่สำหรับเฟรเซอร์ส เรามีเป้าหมายขององค์กรว่า “Inspiring experiences, creating places for good” หรือ “สร้างประสบการณ์ เสริมแรงบันดาลใจ พัฒนาให้อยู่ คู่กับคุณ”

ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ และประสบการณ์ที่ดีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมทั้งพัฒนาสินค้า และโครงการในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความยั่งยืน ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย, อสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม

สำหรับกรอบการดำเนินงานด้าน ESG ในส่วนของ E (environment) จะเน้นในเรื่องของการจัดการของเสีย, สนับสนุนให้เกิดการใช้ green energy (EV charging station, automation), อาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED, เป็นบริษัทที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และเป็นบริษัทลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

ส่วนตัว S (social) เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม, การจัดอบรมด้านต่าง ๆ ให้กับพนักงาน, ส่งเสริมความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน (diversity, equity and inclusion : DEI) และ G (governance) ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ จริยธรรม และระบบตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และข้อกำกับจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ในเรื่องของ E และ G เป็นเหมือน agenda ระดับโลกที่ทุกบริษัทต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเราต้องให้ความสำคัญกับด้านสังคมมากขึ้น เพราะในบริบทของประเทศไทย ด้านสังคมเราอาจจะยังไม่แข็งแรงเท่าประเทศอื่น”

ต่อยอดโครงการเพื่อสังคม

หากโฟกัสไปที่ด้านสังคม “ธนพล” เล่าให้ฟังว่า เฟรเซอร์สดูแลสังคมทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ที่ผ่านมาเราจัดทำโครงการ “Classroom Makeover” ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด พระมหาไถ่พัทยาฯ ด้วยการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ และร่วมกับ Creative Crews บริษัทอินทีเรียร์ช่วยออกแบบห้องเรียนสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตาตามหลักสูตร Prebraille

ซึ่งได้ออกแบบห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกส่วนของห้อง ทั้งพื้น ผนัง และแสงไฟ เป็นองค์ประกอบสำหรับนักเรียนในการใช้เรียนรู้เกี่ยวกับ 4 วิชาพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ได้แก่ วิชาสัมผัส, วิชาเสียง, วิชาลมหายใจ และวิชาลำแสง

โครงการนี้กลายเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนเด็กพิเศษที่เมืองเสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ซึ่งถือว่าเป็นไปตามความตั้งใจของเราที่ต้องการสร้างโครงการให้เป็นตัวอย่างกับสังคม แล้วผู้ที่สนใจก็สามารถมาเอาแบบ หรือไกด์ไลน์ไปดำเนินการที่ไหนต่อก็ได้ เพื่อให้เกิดการขยายความช่วยเหลือ

“ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังร่วมพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบเงินให้แก่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 9.5 ล้านบาท ในโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 (เพื่อ 22 องค์กรการกุศล) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิทั้งด้านการศึกษาและฝึกอาชีพ โดยเรามองว่ามูลนิธิสามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์ในการดูแลคนตาบอดในพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป”

นอกจากนี้ ยังทำสามย่านโค-ออป ที่สามย่านมิตรทาวน์ เป็นสถานที่เรียนรู้ให้บริการฟรี โดยหลังจากเปิดมาแล้วเกือบ 4 ปี ตอนนี้มีสมาชิกกว่า 1 แสนคน ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา คนวัยทำงาน และเรายังชวนกลุ่มต่าง ๆ หรือผู้ที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อการศึกษาโดยไม่หวังผลกำไรสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ฟรีอีกด้วย

“ทั้งนี้ การลงทุนสร้างสามย่านโค-ออป เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการฟรี ถามว่าเราได้อะไร ผมมองว่าทุกอย่างได้รับผลตอบแทนกลับมาหมด อีกทั้งบริษัทได้ประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) พบว่าอยู่ที่ 3.5 เท่า หรือหมายความว่าทุก ๆ 1 บาทที่บริษัทลงทุนไปจากการสร้างพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้ฟรีนั้น สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้ 3.5 เท่า

ตั้งแต่การเดินทางบางคนใช้รถโดยสารสาธารณะ ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อย หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอยภายในสามย่านมิตรทาวน์ ก็ทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ”

ร่วมใจให้โลหิต ฝ่าโควิดด้วยกัน

สำหรับโครงการร่วมใจให้โลหิต ฝ่าโควิดไปด้วยกัน “ธนพล” บอกว่า เกิดจากเป้าหมายที่ต้องการให้คนมาบริจาคโลหิตมากขึ้น และสามารถเดินทางไปบริจาคโลหิตอย่างสะดวก เราจึงจัดโครงการที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเดินทางมาได้ง่าย โดยจัดขึ้นทุก ๆ 3 เดือน จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10

“โดยล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2565 สามารถระดมโลหิตได้ถึง 996 ยูนิต คิดเป็นปริมาณโลหิต 448,220 ซีซี ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่การจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตที่สามย่านมิตรทาวน์จนถึงปัจจุบัน รวม 10 ครั้ง สามารถระดมโลหิตได้ประมาณ 3 ล้านซีซี อีกทั้งเราให้ความรู้ถึงการเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิตอีกด้วย โดยสามารถดึง 20% ของคนที่มาแล้วไม่ได้บริจาคเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาให้สามารถกลับมาบริจาคโลหิตได้อีกครั้ง”

ดูแลพนักงานรอบด้าน

“ธนพล” กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดูแลพนักงาน เราสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี รวมถึงใส่ใจเรื่องสุขภาพของพนักงาน โดยจัดกิจกรรม Run for Friends เป็นกิจกรรมวิ่งแบบเพื่อนช่วยเพื่อน คือทุก 1 กิโลเมตรที่พนักงานวิ่ง บริษัทบริจาคเงิน 10 บาท เข้ากองทุนช่วยเหลือพนักงาน เช่น ช่วยสนับสนุนการรักษาโรค เพราะเห็นว่าโรคบางอย่างไม่ได้รับการคุ้มครองจากประกัน หรือบางครั้งครอบครัวพนักงานป่วย เงินของกองทุนก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

“นอกจากนั้น บริษัทยังมองถึงเรื่องสุขภาพใจ ส่งเสริมให้พนักงานไปปฏิบัติธรรม และการลาไปปฏิบัติจะไม่ถือว่าเป็นวันลา พร้อมทั้งการจัดเวิร์กช็อปการคิดแบบ positive และจัดกิจกรรมโยคะ ทั้งหมดนี้เพื่อให้พนักงานมีสมดุลในการใช้ชีวิต ทั้งยังมีการอบรมที่ช่วยพนักงานอัพเดตความรู้ใหม่ ๆ อย่างกฎหมาย PDPA, ความรู้ด้านการลงทุน และภาษี”

ส่งเสริมความเท่าเทียม

สุดท้ายคือเรื่องสำคัญ เพราะบริษัทปรับสวัสดิการใหม่ที่ทุกคนสามารถเลือกวันลาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ด้วยการปรับปรุงจากสวัสดิการเดิมที่พนักงานหลายคนอาจไม่มีโอกาสได้ใช้ เช่น คนที่ไม่ได้แต่งงานก็ไม่ได้ใช้สิทธิลาสมรส หรือผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้สิทธิลาบวช

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน จึงปรับรูปแบบวันลา เช่น ลาเพื่อวันสำคัญในชีวิต ลาเพื่อดูแลครอบครัว ลาทำหมัน และเพิ่มสิทธิลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ พร้อมทั้งปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“ธนพล” กล่าวทิ้งท้ายว่า เราเป็นบริษัทใหญ่จึงต้องทำให้เป็นตัวอย่าง คือทำให้ดู และชวนคนอื่นทำ เพราะเรามีทรัพยากรที่สามารถไปช่วยคนอื่นได้ โดยเรามีการจัดตั้งฝ่ายธรรมาภิบาล และวางองค์กร, บริหารความเสี่ยงและความยั่งยืนขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ ESG อย่างชัดเจน


สำหรับ 2-3 ปีข้างหน้า เราจะเน้นด้านสังคมให้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังนำ SROI ไปใช้วัดผลกับโครงการอื่น ๆ พร้อมทั้งชวนทุกกลุ่มธุรกิจของเราดำเนินการเรื่อง ESG เพื่อก้าวไปข้างหน้า และสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน