ESG ดิสรัปชั่นตัวใหม่ ใครไม่ปรับ…ถูกทิ้ง ?

ESG
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลายฝ่ายออกมาพยากรณ์ว่าในปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

อีกด้านหนึ่งโลกธุรกิจก็กำลังพูดกันถึงเรื่อง ESG (environment, social, governance) ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

และที่ดูเหมือนภาคการเงินน่าจะเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ ESG ได้อย่างจริงจัง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกกติกาเพื่อพาให้ธุรกิจมุ่งสู่ ESG อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง “สิ่งแวดล้อม” เป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจของสถาบันการเงิน

เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง ในลำดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องปรับตัวตามนโยบายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากลมากขึ้น

โดย ธปท.จะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 ปี 2565 รวมถึงการสร้างแรงจูงใจภาคธุรกิจ ให้เห็นความสำคัญกับ ESG ผ่านการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่รองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจได้ตรงจุด

และถ้าพูดถึงสถาบันการเงินที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG มากที่สุดเวลานี้ก็คงต้องยกให้ “ธนาคารกสิกรไทย”

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ซีอีโอธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ ที่มีหมุดหมายเรื่องของ ESG อย่างชัดเจน กล่าวบนเวทีสัมมนาของประชาชาติธุรกิจว่า

“ESG ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องของซีเอสอาร์ ไม่ใช่เรื่องการกุศล แต่เป็นเรื่องของธุรกิจล้วน ๆ อยู่ที่ว่าเราจะคว้าโอกาสนี้ (ร่วมกัน) ได้อย่างไร”

ซีอีโอเคแบงก์เล่าว่า ในการวางยุทธศาสตร์ของแบงก์กสิกรไทย ด้านบนสุดของการวางแผน กลยุทธ์ต่าง ๆ คือ “Bank of Sustainability” ดังนั้นไม่ว่าจะคิดอะไร ทุกอย่างไม่ว่าจะบริการสินเชื่อ เพย์เมนต์ หรือธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ทั้งเงินฝากและลงทุน เรียกว่าเราฝังเรื่อง sustainability ไว้ในทุก ๆ อณูของการทำงานและการวางแผนงาน

ยกตัวอย่าง เรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยในภาพรวม ผลสำรวจถือว่าอยู่ในระดับสูง 96-99% แต่เป็นการเข้าถึงในรูปเงินฝาก เงินโอน หรือบัตร ATM แต่คนที่เข้าถึง “สินเชื่อในระบบ” ต่ำแค่ 45% เท่านั้น หมายถึงอีก 55% ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

นั่นเป็นโจทย์ของกสิกรฯและสถาบันการเงินต้องไปคิดว่าจะเติมเต็มอย่างไรเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคครัวเรือน แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ของธนาคารด้วย

ทั้งนี้เคแบงก์ตั้งเป้าปี 2030 เราต้องเป็น net zero โดยมีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างเรื่องรถยนต์ที่ใช้งานของธนาคาร ก็จะเปลี่ยนให้เป็นรถ EV ทั้งหมด แต่ต้องสอดคล้องไปกับบริบทของประเทศด้วย หมายถึงสถานีชาร์จที่รองรับการใช้งานอย่างเพียงพอ รวมทั้งอาคาร สำนักงานต่าง ๆ ก็จะออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราไม่ได้มาเล่น ๆ มีการตั้งเป้า มีการวัดผล และกำหนดสิ่งที่ต้องทำอย่างชัดเจน

“เราเตรียมวงเงินไว้ 2 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านตัวเองไปพร้อมกับเรา เคแบงก์ไม่ได้ไปคนเดียว แต่ทำงานกับลูกค้า คู่ค้าในการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน และต่อไปถ้าใครไม่ผ่านเกณฑ์ ESG เราก็จะไม่ทำงานด้วย นี่คือบทบาทของการเป็นสมาชิกในสังคม”

เช่น ธนาคารมีนโยบาย “ไม่ปล่อยสินเชื่อ” ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นใหม่ ยกเว้นจะมีเทคโนโลยีเปลี่ยนให้เป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนตํ่า ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในพอร์ตเดิม ก็จะปล่อยให้ลดลงจนหมดในปี 2030 อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ธนาคารยอมเพื่อประโยชน์ในระยะยาว

ซีอีโอเคแบงก์ย้ำว่า ESG คือโอกาสในการทำธุรกิจ ใครคว้าได้ จะได้ประโยชน์ ใครคว้าไม่ได้ ก็จะล้าหลังเพื่อน และสุดท้ายก็อาจจะจบ เพราะ ESG เป็นประเภทหนึ่งของดิสรัปชั่น ใครไม่ทำก็เหนื่อย