อะไร ๆ ก็ ESG

ESG
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ ไม่รู้สึกแปลกใจที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “ESG” มากขึ้น จนถึงขนาดชูเป็นกลยุทธ์ขององค์กร ด้วยการนำ “ESG” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดี “ESG” ในความหมายล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล

ดังนั้น ถ้าองค์กรหนึ่งองค์กรใดดำเนินธุรกิจ โดยอิงเรื่องของสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาลเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ก็จะได้รับการยอมรับ และถูกตอบรับในวงกว้าง ยิ่งถ้าบริษัทเหล่านั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ยิ่งจะทำให้การสยายปีกธุรกิจ, การหาพันธมิตร, การสรรหาคู่ค้า และการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศจะง่ายขึ้น

เพราะโลกธุรกิจในต่างประเทศเขาก็ให้ความสำคัญกับ “ESG” เช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากองค์กรใด องค์กรหนึ่งในประเทศไทยอยากจะร่วมลงทุนกับบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศ หน้าต่าง “ESG” จะเปิดต้อนรับอย่างง่ายดาย

เพราะเขาเองก็ให้ความสำคัญต่อโลกใบนี้เช่นกัน

และเขาเองก็อยากมีส่วนร่วมในการช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกใบนี้เช่นกัน

ถามว่าผมรู้สึกดีใจไหม ?

ดีใจมาก เพราะตลอดเวลาของการทำงานข่าวทางด้านนี้มานาน ทั้งยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงการทำกิจการเพื่อสังคมนับตั้งแต่เริ่มแรกของบริษัทต่าง ๆ แต่มาวันนี้เรื่องของ CSR แตกแขนงกลายพันธุ์ไปมาก จนกลายเป็นเรื่อง “SD” (sustainability development) จนเป็นที่กล่าวขานบนเวทีโลก

ไม่นับรวมเรื่องของ “BCG economy” ที่หลายประเทศพยายามขับเคลื่อน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แต่กระนั้น การจะดำเนินแนวทางเพื่อไปสู่เป้าหมายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ESG” หรือ “BCG economy” อะไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วยว่าสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นกำลังมุ่งเดินทางไปนั้นจะต้องมีความโปร่งใส และไม่มีอะไรซ่อนเงื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ดังนั้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่านับตั้งแต่มีการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว และ COP27 เมื่อไม่กี่วันผ่านมา จะเห็นว่าเรื่องของการประกาศจุดยืน โดยร่วมมือกับประชาคมโลกในการควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ยังเป็นประเด็นสำคัญ

ทั้งยังตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด จากเดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) มาเป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) (เร็วขึ้น 5 ปี) ขณะที่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จากเดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) มาเป็นภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) (เร็วขึ้น 15 ปี) อีกเช่นกัน

สำคัญไปกว่านั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จากเดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) มาเป็นภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (เร็วขึ้น 35 ปี) ก็ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต่างลงพันธสัญญากัน ฉะนั้น จึงไม่แปลกหรอกที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก หรือในประเทศไทยเอง จึงต่างชูกลยุทธ์เรื่องของ “ESG” เป็นวาระสำคัญในการดำเนินธุรกิจจากนี้ไป

พร้อม ๆ กับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดรับต่อเป้าหมายในอนาคตข้างหน้าด้วย

ลองมาดูกันนะครับ นับจากปี 2565-2566 และ 2567 เป็นต้นไป เรา ๆ ท่าน ๆ จะคุ้นชินกับ “ESG” มากขึ้น

คล้าย ๆ กับคำว่า “CSR” ในอดีตเลย (ฮา)