วราวุธ หนุนเอกชนดัน BCG-ESG ขับเคลื่อนธุรกิจ ลดคาร์บอน 40% ใน 8 ปี

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

วราวุธ รมต. กระทรวงทรัพยากรฯ แนะเอกชนดัน BCG-ESG ขับเคลื่อนธุรกิจ ชี้ต่างประเทศใช้มาตรการทางภาษีด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้กับสินค้านำเข้า อนาคตหากใช้กับสินค้าเกษตรจะกระทบไทยมาก ดังนั้น ไทยต้องเตรียมความพร้อมและปรับธุรกิจให้สอดคล้องกันเทรนด์โลกให้มาก

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปรับตัวของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยสู่ธุรกิจ BCG และการนำแนวทาง ESG มาใช้เพื่อความยั่งยืน ว่า รัฐบาลมีแนวคิดนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) พัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและมุ่งสู่เป้าหมายประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 40% ในระยะ 8 ปีจากปัจจุบัน และการจะขับเคลื่อนไปได้ก็ต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน

“เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนก็จำเป็นต้องปรับความคิด แนวทางและรูปแบบการทำงาน และเพิ่มเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่าให้มากขึ้น ไม่ใช่การเพิ่มเพียงปริมาณการส่งออก เพราะต้องยอมรับว่าต่างประเทศมีการยกระดับด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยยกกำแพงภาษีด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Carbon Boarder Adjustment Mechanism (CBAM) อย่างยุโรป กับสินค้า 5 รายการ เช่น ปุ๋ย เหล็ก พลังงาน อลูมิเนียม ซีเมนต์ อนาคตแนวศึกษาสินค้ายางรถยนต์ และหากมีการเพิ่มกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้”

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

นอกจากนี้ สหรัฐ แคนาดา อีกหลายประเทศ ๆ ก็เริ่มมีการวางกฎระเบียบขึ้นมา ซึ่งประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้น การทำการค้า การส่งออกกับต่างประเทศผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด แนวทางการทำธุรกิจ โดยตนไม่อยากให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภาระ แต่อยากให้เห็นเรื่องความยั่งยืนเป็นโอกาสและแต้มต่อทางธุรกิจ

ปัจจุบันจะพบว่าบริษัทรายใหญ่ต่างมีการทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสังคมถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง มีอะไรที่ต้องแก้ไข เป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทนั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็จำเป็นต้องทำ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตนารมณ์ไว้กับนานาชาติในปี 2564 เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยโมเดล BCG มองไปไกลกว่าผลกำไรของภาคธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และพนักงานในองค์กร ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

นอกจากนี้ โมเดล BCG จะเกี่ยวข้องกับครึ่งหนึ่งของการจ้างงานใน 4 สาขาอาชีพ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของจีดีพีไทยในอนาคต

อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนต่างมีความสำคัญในการผลักดัน ภาคเอกชน หอการค้าทั่วประเทศ ที่จะต้องร่วมมือกันผลักดัน เปลี่ยนแปลงโลกและเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน