ไอแอลโอเปิดตัวแนวทางจัดหางาน คุ้มครองแรงงานข้ามชาติในอาเซียน

ไอแอลโอเปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจรรยาบรรณ สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลในอาเซียนคุ้มครองแรงงานข้ามชาติจากการจัดหางานที่ละเมิดต่อกฎหมาย

วันที่ 14 มีนาคม 2566 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดตัวแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดหางานอย่างเป็นธรรมในอาเซียนชุดใหม่ ที่จะช่วยหน่วยงานกำกับดูแลในระดับชาติในภูมิภาคสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้พัฒนา ติดตามตรวจสอบและบังคับใช้นโยบายการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจรรยาบรรณ โดยแนวปฏิบัติมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง

เพราะเล็งเห็นว่า บริษัทจัดหางานทำหน้าที่สำคัญในการจับคู่ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง แต่การจัดหางานมักเป็นกระบวนการที่มีช่องว่างอันเกิดจากการฉ้อฉลและแสวงประโยชน์ หลายประเทศควบคุมการออกใบอนุญาตและการดำเนินงานของบริษัทจัดหางานเอกชน แต่จากการสำรวจล่าสุดของไอแอลโอ พบว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหางานสำหรับแรงงานข้ามชาตินั้นสูงมาก (สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดค่อนข้างมาก) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงข้อท้าทายต่าง ๆ ในการบรรลุการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจรรยาบรรณในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การย้ายถิ่นเพื่อการทำงานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคอาเซียน จากข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2565 แรงงานข้ามชาติส่งเงินกลับภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 78 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 มาเป็นกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 แรงงานข้ามชาติมีจำนวน 10.6 ล้านคนในอาเซียนโดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง

นายนิลิม บารัวห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ของโอแอลโอ กล่าวว่า การจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจรรยาบรรณสามารถป้องกันแรงงานข้ามชาติจากการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน รวมถึงการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ

“แนวปฏิบัติฉบับนี้ให้ข้อแนะนำที่กระชับและนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับความพยายามต่าง ๆ ในการปรับปรุงกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายการจัดหางานในภูมิภาคอาเซียน ไอแอลโอ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ”

แนวปฏิบัติระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดหางานอย่างเป็นธรรมในอาเซียนพัฒนาขึ้นภายใต้กรอบหลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม ซึ่งกำหนดแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม ลดค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นเพื่อการทำงานและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการจัดหางานและบรรจุงาน

แนวปฏิบัติยังพัฒนามาจากผลการวิจัยฉบับล่าสุดซึ่งศึกษาวิเคราะห์กฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวกับการจัดหางาน และหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติยังได้ให้ข้อมูลซึ่งช่วยกำหนดรูปแบบการพัฒนาและจัดทำแนวปฏิบัติ