ศุภนิมิตฯ ผนึก ILO – แสนสิริ แก้ปัญหาแรงงานหญิงข้ามชาติถูกเอาเปรียบ

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับไอแอลโอ และแสนสิริ

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับไอแอลโอ จัดอบรมสิทธิแรงงาน แก้ปัญหาแรงงานหญิงข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์

วันที่ 5 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง” (REACH) เป็นการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) ผ่านโครงการความปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair Programme)

โดยนางสาวมิเชล เลตัน (Ms. Michelle Leighton) Chief of the Labour Migration Branch องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงและทีมงานได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง (REACH) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากไอแอลโอ ณ โรงงาน Sansiri Precast Factory (PCF) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เป็นการนำร่องในพื้นที่บ้านพักแรงงานในพื้นที่ก่อสร้างภายใต้การดูแลของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี

และได้มีการจัดอบรม หัวข้อ “สิทธิแรงงาน” และ “สิทธิสตรี” ให้กับแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัว เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นโดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้เกิดความตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และบทบาทอันพึงมีตามกฎหมายแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการสูญเสียสิทธิและโอกาสที่พึงได้จากทางภาครัฐและภาคเอกชน ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงการถูกละเมิดอื่น ๆ ได้ นอกจากการจัดอบรมแล้ว ทางกลุ่มผู้บริหารไอแอลโอ ยังได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับตัวแทนแรงงานหญิงข้ามชาติอีกด้วย

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับไอแอลโอ และแสนสิริ

นางสาวเลตันกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติหลายคนหวังจะได้ทำงานที่มีคุณค่า ซึ่งอันดับแรกที่แรงงานข้ามชาติต้องรู้คือ สิทธิของตัวเองในฐานะแรงงาน โดยโครงการ REACH และโครงการ Safe and Fair มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่แรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัว เกี่ยวกับสิทธิและสิทธิประโยชน์อันพึงมีตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมให้แรงงานหญิงข้ามชาติและเด็ก ได้เข้าถึงระบบการศึกษาและบริการสาธารณสุข ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ผ่านการจัดอบรมให้ความรู้ ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ (อสต.)

“วันนี้เราได้เห็นผู้ฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเราดีใจที่ได้เห็นว่าผู้อบรมซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขก็เป็นเป็นแรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน ไอแอลโอมีความยินที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและนายจ้าง เพื่อร่วมกันทำให้ความหวังของแรงงานข้ามชาติเป็นจริง”

“หลินฟ้า อุปัชฌาย์” ผู้จัดการทุนด้านผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้กลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ และได้มีโอกาสเข้าถึงบริการที่ภาครัฐได้จัดไว้ให้

ในฐานะที่พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้ใช้แรงงานของประเทศ เช่น สิทธิวันลางาน สิทธิประกันสังคม สิทธิในการรักษาพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ว่าเมื่อพวกเขาเจ็บป่วยควรจะไปที่ไหน อย่างไร เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการหรือผู้รับเหมาก่อสร้างจะไม่ค่อยมีเวลามากพอ ที่จะส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติ ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิของตัวเอง

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับไอแอลโอ และแสนสิริ

Gi go ตัวแทนแรงงานหญิงข้ามชาติ ชาวเมียนมา กล่าวว่า ไม่เคยได้รู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิทธิเด็กมาก่อนเลย ได้รู้ว่าค่าแรงขั้นต่ำต้องได้เท่าไหร่ เพิ่งจะรู้วันนี้วันแรก ดีใจที่วันนี้ได้ความรู้หลายอย่าง ซึ่งมีประโยชน์มาก จะนำความรู้ไปบอกเพื่อน ๆ คนอื่นต่อไป

Phyo ตัวแทนแรงงานชายข้ามชาติ ชาวเมียนมา กล่าวว่า จากการได้เข้าอบรม ทำให้ผมได้รู้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และค่าโอที ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อน ผมจะเอาความรู้ไปบอกกับเพื่อน ๆ เพราะเพื่อน ๆ ผมทำงานหนัก ตั้งแต่ 7 โมงถึง 1 ทุ่ม แต่ได้ค่าแรงน้อยมาก และจากการได้รับความรู้เรื่องสิทธิเด็ก ก็คิดว่าเมื่อมีลูกจะวางแผนเก็บเงิน อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ และจะเก็บเงินมากขึ้นถ้าหากจะมีลูกหลายคน คิดว่าความรู้ที่ได้นี้ มีประโยชน์อย่างมาก สามารถนำไปวางแผนชีวิตให้ตัวเองและครอบครัวได้

นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ เพื่อช่วยขับเคลื่อนความช่วยเหลือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิงทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างของแสนสิรินั้น เพราะอยากให้เป็นโครงการต้นแบบให้กับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง การที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ จะเข้าใจ หรือเห็นความสำคัญของสิทธิแรงงาน ก็ต้องเกิดจากการมีโครงการนำร่องบางแห่งขึ้นมาก่อน

“แสนสิริพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยขับเคลื่อนในโครงการนี้ และยินดีที่จะเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติในบ้านเรามากขึ้น รวมถึงสามารถทำให้กลุ่มแรงงานได้ตระหนัก และมีความเข้าใจในสิทธิพึงมีพึงได้ของพวกเขามากขึ้น”

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า รู้สึกยินดีที่ผู้บริหารระดับสูงของไอแอลโอให้ความสำคัญและลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของโครงการ Safe and Fair ที่ได้ทำร่วมกับไอแอลโอ และแสนสิริ

โครงการนี้มุ่งเน้นที่การเพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและบริการต่าง ๆ ของแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในภาคก่อสร้าง ถือเป็นการรายงานความคืบหน้าของโครงการที่นอกเหนือจากตัวรายงาน และผู้บริหารของไอแอลโอได้มีปฏิสัมพันธ์ ได้สัมภาษณ์กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ที่คิดว่าสำคัญและมีประโยชน์สำหรับแผนการทำงานร่วมกับไอแอลโอผ่านโครงการนี้ต่อไป”

แผนดำเนินงานความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมูลนิธิศุภนิมิตฯ กับแสนสิริ มุ่งเน้นสิทธิ 3 ด้าน ได้แก่ 1. สิทธิแรงงาน ได้แก่ สิทธิประโยชน์อันพึงมี สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง และการส่งต่อเคสเพื่อรับความช่วยเหลือ เช่น เรื่องประกันสังคม ประกันสุขภาพ การใช้วันลา การจ้างงาน ค่าจ้างและค่าล่วงเวลา 2. สิทธิสตรี ได้แก่ การจ้างงานที่เท่าเทียม การไม่กระทำความรุนแรง สุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์  3. สิทธิเด็ก ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะมีส่วนร่วม

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับไอแอลโอ และแสนสิริ