130 ปี เนสท์เล่ กางแผนก้าวสู่ Net Zero 2050

ทาธฤษ กุณาศล-ปิยนุช ยุดกระโทก-วิคเตอร์ เซียห์-เจนิกา คอนเด ครูซ
ทาธฤษ กุณาศล-ปิยนุช ยุดกระโทก-วิคเตอร์ เซียห์-เจนิกา คอนเด ครูซ

เป็นเวลากว่า 130 ปีที่เนสท์เล่ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาสร้างรากฐานปักหมุดฐานผลิตลงทุนมหาศาลในประเทศไทย โดยมีผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟสด, เนสกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป, ชามะนาว ชาผงสำเร็จรูป,ชาเนสที ชาผงสำเร็จรูป, ไมโล, เนสท์เล่ ช็อกโกแลต, เครื่องดื่มน้ำผลไม้สำเร็จรูป, คอฟฟี่เมต หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสตราแม็กกี้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

“วิคเตอร์ เซียห์” ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2436 ด้วยโฆษณาผลิตภัณฑ์นมข้นหวานตราแม่ทูนหัว (หรือมิลค์เมด) จากนั้นจึงมาสร้างฐานผลิตลงทุนโรงงานแห่งแรกในปี 2510 ที่สำโรง และเติบโตด้านค้าขายเรื่อย ๆ

“โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2565 บริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 13,600 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงงานแห่งใหม่คือ เนสท์เล่ เพียวริน่า เพ็ทแคร์ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง

และอีกหนึ่งโรงงานคือ เนสท์เล่ นวนคร 7 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มนมแบรนด์ไมโล และนมตราหมี ยูเอชที พร้อมกับลงทุนตั้งหน่วยธุรกิจออนไลน์ เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคช็อปออนไลน์มากขึ้น”

วิคเตอร์ เซียห์
วิคเตอร์ เซียห์

ดังนั้นในก้าวต่อไป บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนด้านความยั่งยืน โดยจะใช้ 2 กลยุทธ์หลักเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือ

หนึ่ง ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค มุ่งสร้างสรรค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่อร่อย และมีโภชนาการสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านเกณฑ์โภชนาการของบริษัทที่เข้มงวด พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการลดน้ำตาล ลดโซเดียม เสริมวิตามินและแร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากพืชให้เป็นตัวเลือกสําหรับผู้บริโภค

สอง การขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา เน้นดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยช่วงปีที่ผ่านมา เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้ปฏิบัติการตามแผนงานเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ปี 2050 ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก 2.การดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 3.การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และ 4.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ผ่านมาเนสท์เล่ปรับเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์สู่วัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยมีแผนจะเปลี่ยนให้ได้ 100% ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว 95% ของบรรจุภัณฑ์ในไทย และยังมีการใช้หลอดกระดาษแบบโค้งงอให้ผลิตภัณฑ์ไมโล รวมถึงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ไอศกรีม และใช้พลังงานทดแทน 100% ในการผลิต”

คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคมของปีนี้จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำสู่ขวด rPET (Recycled polyethylene terephthalate) ได้ เพราะประเทศไทยมีการปลดล็อกกฎหมายสามารถนำขวดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มใหม่มาตั้งแต่มิถุนายนปี 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

เจนิกา คอนเด ครูซ
เจนิกา คอนเด ครูซ

“เจนิกา คอนเด ครูซ” ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมองค์กรและความยั่งยืน กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 131 เราจะดำเนินโครงการใหม่ 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นโครงการเกี่ยวกับการดูแล และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อชดเชยน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชน

โดยต่อยอดความสำเร็จจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำรอบ ๆ โรงเรียนแก่นักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งพัฒนาคนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้พิทักษ์น้ำ

ขณะเดียวกันก็ขยายความร่วมมือสู่ชุมชน ด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเรื่องของการอนุรักษ์น้ำในโรงเรียนชุมชน รวมถึงการปลูกฝังการอนุรักษ์แหล่งน้ำตั้งแต่แหล่งกำเนิดของน้ำไปจนถึงการดูแลคุณภาพน้ำ

โดยปีนี้เราจะต่อยอดสู่ชุมชนหนองทุ่งทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นที่ตั้งอีกแห่งของโรงงานผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ ก็จะดำเนินในลักษณะเดียวกันคือเป็นการให้ความรู้ รวมทั้งร่วมมือกับชุมชน และโรงเรียน หาแนวทางแก้ไขให้เหมาะสมกับความต้องการ และปัญหาของแต่ละชุมชนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทอง

“นอกจากนั้น เรายังวางแผนอีกว่าจะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทองเป็นแรมซาร์ไซต์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ และได้รับการยอมรับในระดับสากลภายใน 5 ปี ผ่านการแต่งตั้งตามอนุสัญญาแรมซาร์ ซึ่งหมายถึงเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ มีการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน”

ส่วนอีกหนึ่งโครงการคือการปลูกป่าในไร่กาแฟ เนื่องจากเนสท์เล่ระดับโลกมีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ให้ได้ 200 ล้านต้น ภายในปี 2030 ดังนั้น ประเทศไทยจึงร่วมมือกับ PUR Projet เพื่อปลูกต้นไม้ 800,000 ต้น ในไร่กาแฟที่จังหวัดระนอง และชุมพร โดยปีที่ผ่านมาเริ่มปลูกต้นไม้ไปแล้ว 50,000 ต้น และจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2026 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 200,000 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ดังนั้น ในฐานะที่เนสท์เล่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มรายใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญ สร้างผลผลิตอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงมีโครงการด้านความยั่งยืนกับเกษตรกรฟาร์มโคนม

ทาธฤษ กุณาศล
ทาธฤษ กุณาศล

“ทาธฤษ กุณาศล” ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการด้านความยั่งยืนกับเกษตรกรฟาร์มโคนม เนสท์เล่เข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มโคนมตามทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูใน 3 ด้านหลัก คือ ระบบโภชนะ การจัดการของเสีย และให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้พลังงานทดแทนในฟาร์ม

นอกจากนั้นยังเข้าไปแนะนำ ส่งเสริมวิธีการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร และผลักดันให้เกษตรกรโคนมทุกรายที่ส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ ผ่านมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีจากกรมปศุสัตว์แล้วทั้งหมด 100%

“การจัดการฟาร์มโคนมตามทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูในด้านระบบโภชนะวัว หรือเรื่องอาหารที่ใช้เลี้ยงวัว คือการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อโภชนาการที่สูงกว่าการกินฟางแห้ง ๆ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย ถัดมาคือการจัดการของเสีย เพราะมูลวัวที่เกิดขึ้นถือเป็นการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ

เนสท์เล่จึงส่งเสริมการจัดการมูลวัวอย่างเป็นระบบด้วยการติดตั้งเครื่องแยกกากจากมูลวัว และเครื่องไบโอแก๊ส เพื่อนำของเสียเหล่านี้ไปใช้เป็นพลังงาน และสุดท้ายการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้พลังงานทดแทนในฟาร์ม โดยเนสท์เล่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในฟาร์ม”

ปิยนุช ยุดกระโทก
ปิยนุช ยุดกระโทก

“ปิยนุช ยุดกระโทก” เกษตรกรฟาร์มโคนม จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ร่วมกับเนสท์เล่ครั้งแรกในปี 2018 ในการฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือโครงการ Nestle’s AI Training Program for Young Dairy Farmers ให้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีต่าง ๆ ในการบริหารจัดการทำฟาร์มโคนม

“ตั้งแต่เรียนจบมาก็กลับมาช่วยแม่ทำฟาร์มโคนมที่บ้าน ด้วยวิธีที่แม่ทำมาโดยตลอด แต่พอได้ความรู้และคำแนะนำจากเนสท์เล่ที่เข้มข้น และต่อเนื่อง ทำให้เราได้รับความรู้มาปรับใช้ในฟาร์ม รวมทั้งทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย

ปัจจุบันสามารถผสมพันธุ์วัวเองได้ รู้สึกภูมิใจมากที่ฟาร์มของเราเป็นต้นแบบให้เกษตรกรโคนมรายอื่น และอาชีพของเราสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง และสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลก”