ผลตอบแทนเงินบำเหน็จ ประกันสังคม ม.40 อัตราใหม่ ได้เท่าไหร่ เช็กเลย

ประกันสังคม

สำหรับผู้ประกันตน ม. 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 เท่านั้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพใหม่ คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละ 2.18 ต่อปี

วันที่ 26 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 เรื่องกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประจำปี 2565 ลงนามโดยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เป็นการสมควรกำหนดอัตรา “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพ ประจำปี พ.ศ. 2565 ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละ 2.18 ต่อปีของเงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนสะสมรวมกัน

โดยให้ใช้บังคับสำหรับการคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพในปีต่อไปด้วย จนกว่าสำนักงานประกันสังคมจะออกประกาศเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ อัตราผลประโยชน์คือดอกผลจากการที่ประกันสังคมนำเงินสมทบไปบริหารจัดการการลงทุนตามสมควร โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพประจำปีก่อน ๆ ของมาตรา 40 มีดังนี้

  • ปี 2564 ร้อยละ 4.80 ต่อปี
  • ปี 2563 ร้อยละ 3.11 ต่อปี
  • ปี 2562 ร้อยละ 2.61 ต่อปี
  • ปี 2561 ร้อยละ 2.80 ต่อปี

มาตรา 40 คืออะไร

ผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึงบุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 โดยมาตรา 40 คือผู้ประกันตนโดยอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เช่น ฟรีแลนซ์ เกษตรกร ค้าขาย เป็นต้น

โดยสามารถเลือกจ่ายเงินสมทบประกันสังคมได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน

ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 100 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณีคือ

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน
  • เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน)

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน

ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณีคือ

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน
  • เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน)
  • เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน

ผู้ประกันคนจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณีคือ

  • เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย ถ้านอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 300 บาท ถ้าแพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จะได้รับวันละ 200 บาท
  • เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน (ตลอดชีวิต)
  • เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาทต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ (ไม่เกิน 2 คน)
  • เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเปลี่ยนทางเลือกผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ปีละ 1 ครั้ง (นับตามปีปฏิทิน)

– ผู้ประกันตนยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและทางเลือกการนำส่งเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส. 1-40/1) โดยแสดงความจำนงที่สำนักงานประกันสังคมที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข การเปลี่ยนทางเลือกจะมีผลตั้งแต่เดือนถัดไป หลังจากเดือนที่แสดงความจำนง ขอบคุณ

ได้เงินบำเหน็จเท่าไหร่

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 เท่านั้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

– ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 50 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน

– ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 150 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน และจะได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มอีก 10,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป