วันสิ่งแวดล้อมโลก ธุรกิจไทย-เทศชูเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันสิ่งแวดล้อมโลกจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี โดยในปี 2566 จัดขึ้นภายใต้ธีม #Beat Plastic Pollution มุ่งเน้นไปที่การเตือนใจว่า มนุษย์ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษให้กับโลกจากการใช้พลาสติก ดังนั้น รัฐบาลและภาคธุรกิจในหลายประเทศกำลังดำเนินการเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อมพลาสติกของหลายองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศดังนี้

เซ็นทรัล เลิฟ ดิ เอิร์ธ

กลุ่มเซ็นทรัลและบริษัทในเครือ ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดทำแคมเปญ “Love the Earth” ภายใต้ธีม Beat Plastic Pollution ในวันสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก พร้อมมุ่งส่งเสริมด้านความยั่งยืน

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และเดินหน้าสู่เป้าหมาย net zero ภายในปี 2593 โดยในวัน World Environment Day จัดกิจกรรมในรูปแบบ carbon neutral พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เปลี่ยนขวดพลาสติกที่ใช้แล้วให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า และแจกต้นไม้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า

ปัญหาด้านพลาสติกของโลกสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก กลุ่มเซ็นทรัลและภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ยกระดับความตระหนัก และสร้างแรงกระตุ้นให้มีการลงมือปฏิบัติเพื่อลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากพลาสติกอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงมือทำผ่านการดำเนินโครงการ และการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ

เช่น เซ็นทรัล รีเทล ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ผ่านโครงการ Say No to Plastic Bags, ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ, ผลิตสินค้าแปรรูปจากขยะพลาสติกที่สามารถลดขยะขวดพลาสติกได้มากถึง 67,628 ขวด

พร้อมกับริเริ่ม Samui Zero Waste Model ซึ่งช่วยลดขยะอินทรีย์ได้ 41.7 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 105.51 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่เซ็นทรัลพัฒนาเริ่มโครงการ Journey to Zero อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 สามารถลดขยะอินทรีย์ไปฝังกลบได้กว่า 6,000 ตัน รวมขยะรีไซเคิล และขยะเชื้อเพลิง (refuse derived fuel : RDF) ได้ทั้งหมด 18,182 ตัน และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซายกเลิกการใช้หลอดพลาสติก เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ให้บริการในห้องพัก

จากขวดพลาสติกเล็ก ๆ มาเป็นขวดหัวปั๊มที่ใช้ซ้ำได้ การยกเลิกถุงพลาสติกใส่ผ้าส่งซัก รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือย่อยสลายตามธรรมชาติ และตั้งเป้าหมายในการยกเลิกผลิตภัณฑ์ single-use plastic ในโรงแรม 100% ภายในปี 2568 อีกด้วย

นอกจากนี้ ในวัน World Environment Day ประจำปี 2023 ทางโรงแรมจัดทำโครงการปลา POP ‘Plastic Only Please! เชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติกนำมาใส่ในตัวปลา POP ตั้งแต่วันที่ 5 ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2023

ศูนย์ฯสิริกิติ์ผนึก AIS

“สุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” กับ AIS เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

สอดรับกับพันธกิจหลักของศูนย์ฯสิริกิติ์ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ผู้เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ หรือชุมชนใกล้เคียง สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต สายชาร์จ หูฟัง แบตเตอรี่มือถือ มาทิ้งได้ที่จุดรับขยะภายในศูนย์ นอกจากนั้น เรายังจัดวางถังแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อง่ายต่อการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งขยะที่ผ่านการคัดแยกจะเข้าสู่กระบวนการ recycle และ upcycle”

“สายชล ทรัพย์มากอุดม” รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์ และธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า AIS วางนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเดินหน้าสร้าง ecosystem ในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

ภายใต้โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงปัญหา สร้างกระบวนการจัดเก็บเพื่อให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ zero landfill ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย

ธุรกิจสหรัฐช่วยกันลดพลาสติก

ขณะที่บรรดาผู้นำทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เอ็กซอนโมบิล, ไซคลิกซ์ อินเตอร์เนชันแนล, ซีลด์ แอร์, และอาโฮลด์ เดอแลซ ยูเอสเอ ต่างประกาศความสำเร็จในการเป็นรายแรกในสหรัฐที่ทดสอบความเป็นไปได้ในการหมุนเวียนการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารโดยผ่านการรีไซเคิลขั้นสูง

“แดน มัวร์” รองประธานฝ่ายพอลิเอทิลีนของเอ็กซอนโมบิล กล่าวว่า การรีไซเคิลขั้นสูงกำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูงอย่างเอ็กซ์เทนด์ (Exxtend) ของเอ็กซอนโมบิลจะสลายขยะพลาสติกออกเป็นระดับโครงสร้างโมเลกุล

แล้วถูกแปลงเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ในเกรดที่ใช้กับอาหารได้ ทั้งนี้ เอ็กซอนโมบิลวางแผนที่จะยกระดับขีดความสามารถในการรีไซเคิลขั้นสูง แตะปีละ 500,000 เมตริกตัน หรือประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ภายในสิ้นปี 2569 ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เพื่อตอบรับกับความต้องการพลาสติกหมุนเวียนที่มีมากขึ้น

“อดัม สปริงเกอร์” ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืนด้านผลิตภัณฑ์ของอาโฮลด์ เดอแลซ ยูเอส ซึ่งมีฟู้ด ไลอ้อน เป็น 1 ใน 5 แบรนด์ในเครือ กล่าวว่า แบรนด์ต่าง ๆ ในเครือมีเป้าหมายที่มุ่งมั่นในเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลและนำมาใช้ใหม่ได้ โดยฟู้ด ไลอ้อนสนับสนุนโครงการนำร่องนี้

ด้วยการทำหน้าที่รวบรวมขยะพลาสติกจากร้านบางสาขาของฟู้ด ไลอ้อน ที่มีมากกว่า 1,100 แห่งใน 10 รัฐของสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดทางชายฝั่งตะวันออกและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ

“โจ เวลลองคอร์ท” ซีอีโอของไซคลิกซ์ กล่าวว่า ไซคลิกซ์เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอไจลิกซ์ คอร์ปอเรชัน และเอ็กซอนโมบิล มีหน้าที่คัดแยก และแปรรูปขยะจากวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่รวบรวมมาจากร้านของฟู้ด ไลอ้อน ก่อนส่งไปยังโรงงานของเอ็กซอนโมบิลที่เมืองเบย์ทาวน์ รัฐเท็กซัส

“การเชื่อมต่อระหว่างร้านฟู้ด ไลอ้อนกับโรงงานในเมืองเบย์ทาวน์มีความสำคัญมาก และจำเป็นต้องมีแนวทางล้ำสมัยเพื่อการจัดการวัตถุดิบตั้งต้น ส่วนหนึ่งของกระบวนการของเราคือ การระบุองค์ประกอบทางเคมีของขยะพลาสติก ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างส่วนผสมของวัตถุดิบพลาสติกหลังการใช้งานที่ปรับให้เหมาะกับข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับการรีไซเคิลขั้นสูงได้”

“รอน คอตเตอร์แมน” รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรระดับโลกของซีลด์ แอร์ กล่าวว่า ซีลด์ แอร์เป็นผู้นำอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยออกแบบและสร้างวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถนำมาทำใหม่ได้

ด้วยการแปลงเรซิ่น PE หมุนเวียนที่ผ่านการรับรองให้เป็นฟิล์มฟู้ดเกรดที่ยืดหยุ่น และใช้งานเพื่อบรรจุเนื้อสัตว์ ปีกสดของเนเจอร์ส พรอมิส จากนั้นจึงบรรจุภัณฑ์ก่อนส่งกลับไปยังร้านค้าที่ลูกค้าซื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นตัวอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียน

“การร่วมมือกับซัพพลายเออร์และลูกค้าทำให้เราระบุ ออกแบบ และจำหน่ายโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่นที่เปี่ยมนวัตกรรมซึ่งสนับสนุนการหมุนเวียนได้”

“เอมิเรตส์” เที่ยวบินสีเขียว

สายการบินเอมิเรตส์ได้นำพลาสติกและแก้วจากขวดที่ถูกทิ้งบนเครื่องในตลอดช่วงปี 2565 มารีไซเคิล และแปรรูปเพื่อใช้ใหม่ ซึ่งจำนวนพลาสติกและแก้วนั้นมีน้ำหนักมากกว่า 500,000 กิโลกรัม หรือเกือบเทียบเท่ากับน้ำหนักเครื่องบิน A380 ของสายการบินเอมิเรตส์ที่บรรทุกเต็มลำ

ดังนั้น ในทุกเที่ยวบินที่ลงจอดดูไบ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินเอมิเรตส์จะคัดแยกขวดแก้วและขวดพลาสติกเพื่อนำส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในดูไบ โดยแก้วจะถูกแยกตามสี และบดให้แตก จากนั้นเศษแก้วจะนำไปหลอมใหม่จะถูกส่งไปยังผู้ผลิต ในขณะที่ขวดพลาสติกจะถูกทำความสะอาด สับเป็นเกล็ด หลอมเป็นเม็ด และส่งไปยังผู้ผลิตเพื่อทำผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ

ทั้งนี้ สายการบินเอมิเรตส์มีความคิดริเริ่มอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุอย่างยั่งยืน เช่น ผ้าห่มของเอมิเรตส์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล โดย 6 ปีนับตั้งแต่มีการริเริ่มดังกล่าว


ผ้าห่มของสายการบินเอมิเรตส์ช่วยรีไซเคิลขวดพลาสติกมากกว่า 95 ล้านขวด, สร้างการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ โดยบัญญัติข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในจรรยาบรรณของซัพพลายเออร์ เช่น ไม้คนชาและกาแฟ รวมถึงหลอดกระดาษ และถุงขายปลีกบนเครื่องบิน ที่นำไม้มาจากป่าที่มีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นต้น