CSR 360 องศา รวมใจ…นำไทยยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าหลังจากการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครยิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากชาติสมาชิกกว่า 193 ประเทศ

เพื่อประชุมถึงการสิ้นสุดลงของเป้าหมายแห่งการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ในปี 2558 และในปี 2559 มีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนในการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน อันถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) และการพัฒนาโลกต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้า คือนับแต่ปี 2559-2573

โดยวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นการสานต่อภารกิจการทำงานที่ยังไม่บรรลุประสงค์ตามเป้าหมายของ MDGs ในการมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติ และทุกรูปแบบ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมาย (Sustainable Development Goals-SDGs & Targets) ที่ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (targets) 169 ข้อ จึงต้องดำเนินการต่อ เพื่อครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

เพียงแต่ในที่นี้ มีอยู่เพียง 5 ข้อใน 17 ข้อ ที่พยายามโยงให้เห็นถึงเรื่อง “ความร่วมมือกัน” หรือ “collaboration” อันถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเดินไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

หนึ่ง ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่

สอง ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

สาม สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศ ทุกวัย

สี่ สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับทุกคน

ห้า บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี และเด็กหญิง

แต่กระนั้น การที่แนวทางในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อหนึ่งถึงห้า หลายภาคส่วนจะต้องมีความร่วมมือกัน (collaboration) เสียก่อน และไม่เฉพาะแต่ประเทศต่าง ๆ บนโลกนี้เท่านั้น หากองค์กรในประเทศไทยเองก็เช่นกันที่จะต้องมีความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

จนนำมาเป็นธีมคอนเซ็ปต์ของการจัดงานสัมมนาเพื่อสังคม ประชาชาติธุรกิจฟอรั่ม CSR 360 องศา รวมใจ…นำไทยยั่งยืน ที่ไม่เพียงจะมี “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา

หากยังมี “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อที่ชื่อ “CSR ประชาคมโลก-ประชารัฐไทย”

โดยในส่วนของ “ดร.ศุภชัย” จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมnอของประชาคมโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของ SDGs ยิ่งเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ collaboration พร้อมกันนั้น จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาของประชารัฐไทยต่อกระบวนการทำงานทางด้านกิจกรรมเพื่อสังคม

ทั้งนั้นเพราะช่วงผ่านมา “ดร.ศุภชัย” เคยมองว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่เกิดขึ้นจากตะวันตกมายังตะวันออก และรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกจะกลายเป็นโลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ ที่ไม่เหมือนกับช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา และไม่ใช่การถอนตัวออกจากโลกาภิวัตน์ที่เรากำลังจะก้าว

“แต่โลกกำลังเข้าสู่โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายนอก ที่ไม่ได้ควบคุมโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ การสื่อสารระหว่างประเทศ ที่จะช่วยเชื่อมโยงโลกเข้าไว้ด้วยกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้น โลกในยุคต่อไปจึงต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น”

ขณะที่ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จะมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โครงสร้างของความยั่งยืน”

โดยในส่วนนี้ “บรรยง” จะลงรายละเอียดให้เห็นถึงข้อมูล ตัวเลข พร้อมกับแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของแต่ละองค์กรที่จะมาเชื่อมโยงกับแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนให้กับประเทศชาติอย่างเห็นภาพ

ยิ่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยากจน การศึกษาอย่างเท่าเทียม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี และเด็กหญิง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า “โครงสร้างของความยั่งยืน” ต่างเกี่ยวข้อง และเกี่ยวเนื่องในหลายมิติ จะแก้เพียงมิติใดมิติหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งอาจต้องทำคู่ขนานกันไป

แต่การที่จะทำให้ทุกปัญหาดำเนินกันไปอย่างคู่ขนาน จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีโครงสร้างของความยั่งยืนแข็งแรงเสียก่อน “บรรยง” จะมาขยายภาพในมิติต่าง ๆ เหล่านี้

สำหรับในส่วนของการเสวนาพิเศษ “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” ที่ไม่เพียงจะมี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

อันถือเป็นการเสวนาพิเศษที่น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญยิ่ง

เพราะ “ฐาปน” และ “ศุภชัย” ถือเป็นคณะทำงานสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐโดยตรง เพียงแต่หมวกอีกใบหนึ่งของ “ศุภชัย” ที่เพิ่งจะสวมไม่นาน คือตำแหน่งประธาน UN Global Compact Local Network ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ผ่านมา

จึงน่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างคณะทำงานของภาคเอกชนที่เข้าไปผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทางด้านกิจกรรมสังคมให้สอดรับกับโครงการสานพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ตามแนวทางของ SDGs ที่ “ศุภชัย” และคณะทำงาน ต้องมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักสากลขององค์การสหประชาชาติ อันก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายมิติด้วยกัน

โดยมี “บวรนันท์” ลงรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพของการรวมใจ…นำไทยยั่งยืนชัดเจนขึ้น เพราะดั่งที่ทราบกลุ่มน้ำตาลมิตรผลให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 4 มิติด้วยกัน

หนึ่ง ครัวเรือนต้นแบบ

สอง องค์ความรู้ชุมชน

สาม องค์กรชุมชน

สี่ เครือข่ายร่วมพัฒนา

ทั้งนั้นเพราะโครงการนี้ดำเนินงานในพื้นที่โรงงานมิตรผล ซึ่งมีมากกว่า 25,500 ครอบครัว ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย 5 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง เศรษฐกิจ สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมสู่การปฏิบัติ เริ่มจากการวิเคราะห์ตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวด้วยการปลูกอยู่ ปลูกกินแบบอินทรีย์ การวางแผนการผลิต และการทำบัญชีครัวเรือน

สอง สังคม พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาแบบองค์รวมในชุมชน โดยใช้กระบวนการให้ความรู้ และสร้างการเรียนรู้ผ่านการอบรมหลักสูตรอบรมต่างๆ

สาม สุขภาวะ สร้างให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ผ่านกิจกรรมด้านสุขภาวะ

สี่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเกษตรกรลดการใช้สารเคมี และเกิดการจัดการทรัพยากรชุมชน

ห้า จิตใจ ส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่อบอุ่น รวมถึงมีการวางแผนชีวิต มีจิตสาธารณะ สำนึกรักท้องถิ่น และมีจริยธรรมในการดำเนินชีวิต

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ “บวรนันท์” จะขยายทีละภาพให้ฟัง พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีศึกษาในเรื่องของการแก้หนี้ของพนักงานในโรงงาน จนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแทบจะหมดหวัง กลับมีกำลังใจทำงานอย่างเต็มกำลังในทุกวันนี้

ถามว่าทำอย่างไร

วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2560 มีคำตอบ

ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจฟอรั่ม CSR 360 องศา รวมใจ…นำไทยยั่งยืน ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หมายเหตุ – ผู้ใดสนใจอยากเข้าร่วมรับฟังสัมมนา ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.prachachat.net