เงินเดือนเพิ่ม-ทางเลือกเยอะ เมอร์เซอร์ชี้คนทำงานส่อลาออกพุ่ง14%

เมอร์เซอร์เผยผลสำรวจค่าตอบแทน และสวัสดิการ องค์กรวุ่นหาคนเก่งงานด้านไอที-เคมีภัณฑ์ รองรับการขยายธุรกิจ-เดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล แม้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว เอกชนขอรอดูสถานการณ์ก่อนคิดลงทุน

ดร.เอก อะยะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของโลก ภายใต้เครือบริษัท มาร์ช แอนด์ มาร์คแลนแนน คัมพานีส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการศึกษาภายใต้โครงการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการ ของปี 2561 ว่า นอกเหนือจากอัตราการขึ้นเงินเดือนของทุกอุตสาหกรรมจะปรับขึ้นที่ร้อยละ 5 และการจ้างงานที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้วนั้น การศึกษายังพบว่า 1) ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน นอกจากนี้ยังพบว่าประเภทงานที่มีผู้ให้ความสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดคือพนักงานผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและยา

คาดการลาออกของพนง.ปี61 พุ่ง13-14%

และ 2) การลาออกของพนักงาน (turn over) ของปี 2561 คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 13-14 ในขณะที่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 12.5% ซึ่งถือว่ามีจำนวนการลาออกของพนักงานเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตยังมีโอกาสจ้างงานน้อยลง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยี เครื่องจักรและอื่น ๆ เข้ามาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น พนักงานที่ลาออกส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าภูมิใจกับงานที่ทำ แต่หากบริษัทอื่นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็พร้อมที่จะย้ายออก

การศึกษาครั้งนี้ยังได้จากฐานข้อมูลของเมอร์เซอร์ที่มีระบบฐานข้อมูล (data base) จากกว่า 500 บริษัท และยังสำรวจจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกกว่า 50-60 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เป็น global com-pany ที่ได้จากพนักงานรวม 287,000 กว่าคน นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเพิ่มเติมว่า Gen Y ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ที่สัดส่วนถึงร้อยละ 58 ทั้งนี้การศึกษาในโครงการดังกล่าวนั้น เดิมทีจะโฟกัสเพียง 3 เรื่อง การบริหารบุคลากร ค่าตอบแทน และระบบสวัสดิการเท่านั้น แต่ในปีนี้ได้เพิ่มเรื่อง “ดิจิทัล” เข้าไปด้วย เพราะประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สังคมดิจิทัล

“เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาดีขึ้นทำให้สามารถทำงานแทนคนได้ และอาจจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตคนจะมูฟกันเร็ว ถือเป็นภาระขององค์กร เพราะเมื่อเทรนด์งานแล้วก็ลาออกไปหางานที่ดีกว่า โดยจะมีประมาณ 1 ส่วน 3 ของภาคธุรกิจที่ยังต้องจัดหากำลังคนเพิ่ม ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะไม่เลวร้ายจนถึงขั้นการจ้างงานชะงัก โดยจำนวน 2 ใน 3 ยังคงมองว่าไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้ส่วนหนึ่งยังคง wait and see ไปพร้อม ๆ กับการพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เต็มที่ก่อน และหาช่องทางในการบริหารจัดการที่มีความหลากหลายมากขึ้น” ดร.เอกกล่าว

ดร.เอกกล่าวเพิ่มเติมว่าภาคเอกชนหลายรายพยายามที่จะ “รักษาสภาพ” ของคนทำงานในปริมาณเท่าเดิม แต่ยังมีบางภาคธุรกิจที่มีการเพิ่มการจ้างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่าอัตราการจ้างงานลดลง รวมถึงในบางอุตสาหกรรมได้เริ่ม “ย้ายฐานการผลิต” ไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่อื่น ๆ เพื่อทดแทน ส่วนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในขณะนี้ถือว่าค่อนข้างนิ่ง และยังคงรักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานไว้ โดยภายใต้สถานการณ์เหล่านี้สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญคือการทำองค์กรให้มี “ความยืดหยุ่น” มากขึ้น

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับการศึกษาโครงการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการของเมอร์เซอร์ในแต่ละปียังประมวลผลได้ถึงตลาดอื่นทั่วโลกอีกด้วย โดยในภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวและแข็งแกร่ง และอัตราผลตอบแทนที่เติบโตขึ้นจริง (คำนวณจากอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นหักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ในตลาดเกิดใหม่ ประเทศที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดในปี 2562 คือ ประเทศบังกลาเทศที่ร้อยละ 10 อินเดียร้อยละ 9.2 และเวียดนามร้อยละ 9.8 ในทางตรงกันข้าม อัตราการขึ้นเงินเดือนในประเทศออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และประเทศนิวซีแลนด์ที่ร้อยละ 2.5 สำหรับประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับท้ายด้วยอัตราการเติบโตของเงินเดือนต่ำสุดที่ร้อยละ 2 เท่านั้น

ด้านจำนวนผลตอบแทนตัวเงินทั้งปี ในประเทศทั่วภูมิภาคแบ่งออกเป็นหลายระดับ เช่น ประเทศออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 เหรียญสหรัฐ/ปี และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเลื่อนขึ้นสู่ระดับอาวุโส เงินเดือนจะอยู่ที่ระดับ 250,000-350,000 เหรียญสหรัฐ/ปี ด้านเงินเดือนเริ่มต้นในบริษัทที่เป็นโรงงานการผลิตต้นทุนต่ำนั้นน้อยกว่าค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐ/ปี แต่มีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในตำแหน่งงานผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับค่าตอบแทนสูงในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

ผลศึกษายังระบุอีกว่าการขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มค่าตอบแทนอีกด้วย ส่วนนี้ร้อยละ 48 ของบริษัทในเอเชียรายงานถึงความลำบากเพื่อหาพนักงานมาทดแทนในตำแหน่งที่ว่าง เทียบกับร้อยละ 38 ของบริษัททั่วโลกที่เผชิญความท้าทายในการหาพนักงานมาช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของธุรกิจ บริษัทจึงมอบค่าตอบแทนพิเศษให้ ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายด้านต้นทุนทดแทนที่มาในรูปของเงินเดือนพนักงานที่สูงขึ้น