เปิดมุม “ไทยเบฟ-ซีพี-มิตรผล” สานประชารัฐ ลดเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืน ในเวทีสัมมนาประชาชาติฯ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา CSR 360 องศา “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในช่วงเสวนา หัวข้อ “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” มีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ร่วมเสวนา

“ประชารัฐ” แนวทางลดความเหลื่อมล้ำ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องที่น่าขบคิด ทั้งในมิติเรื่องความรวย-จน ความสุข–ทุกข์ โอกาสที่แตกต่างกัน การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่แต่ละคนพึงมี ซึ่งการมีโครงสร้างที่เชื่อมโยงคนทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ โครงการประชารัฐเองก็คือหนึ่งในแนวทางดังกล่าวที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนในสังคมทั้ง 5 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นคณะทำงาน 12 คณะ ที่ไทยเบฟก็มีส่วนร่วมด้วย

“ไทยเบฟอยู่กลุ่ม E3 ดูแลเรื่องการเกษตร การแปรรูป และการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ดำเนินงานใน 18 กลุ่มจังหวัด หลักๆ คือการที่ชุมชนลงมือทำ โดยที่ไทยเบฟจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน และรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน เป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยที่คนในชุมชน ประชาชนมีความสุข” นายฐาปนกล่าว

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟเวอเรจกล่าวต่อว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยเบฟฯได้ประสานกับท้อปส์ ค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล เพื่อรับซื้อลำไยโดยตรงจากเกษตรกรในเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเรื่องราคาลำไยตกต่ำ โดยท้อปส์รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 38.21 บาท เป็นจำนวนกว่า 1 แสนกิโลกรัม เกษตรกรก็ขายลำไยได้ราคาที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี หรือกุ้งล็อบส์เตอร์ภูเก็ต พร้อมกับช่วยโปรโมตสร้างการรับรู้กุ้งล็อบส์เตอร์ภูเก็ตมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความต้องการสินค้าในพื้นที่มากขึ้น ตรงกับความต้องการที่จะสร้างให้เกิดตลาดในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ตลอดจนการโปรโมตผ้าขาวม้าไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งการสร้างการรับรู้ผ่านโตเกียวแฟชั่นวีค การแนะนำการใช้ประโยชน์จากผ้าขาวม้าในรูปแบบที่หลากหลาย ฯลฯ

นายฐาปนกล่าวอีกว่า ด้านการตัดสินใจทางธุรกิจนั้น มองว่าไม่มีสูตรสำเร็จที่สามารถตอบได้ทุกโจทย์ทุกช่วงเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบเสมอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ผู้บริหารที่นอกจากจะสามารถมองหาหนทางที่เหมะสมกับช่วงเวลานั้นๆ มากที่สุด โดยคำนึงถึงผลบกระทบแบบรอบด้านแล้ว ยังต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมออีกด้วย

“ในภาพรวมแล้วทุกธุรกิจควรมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สุขภาพแ ละอื่นๆ โดยสร้างคุณค่าและแบ่งปันผลกำไรคืนให้กับทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มและสังคม รวมถึงต้องติดตามวัดผลสำเร็จในด้านตัวเงินและความสุขของคนในสังคม” นายฐาปนกล่าว

สร้างบุคลากร-พัฒนาการศึกษา-พัฒนาศักยภาพคน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซี.พี.เป็นบริษัทที่มีการลงทุนใน 19 ประเทศ และทำการค้าในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แต่ก็มีความเป็นห่วงว่า ประเทศไทยมีชุมชนกว่า 350,000 ชุมชน จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มเเข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดย ซี.พี.มองว่า นั่นคือ 3 สิ่งที่สำคัญ คือ 1.การสร้างคอร์แวลู (Core Values) ขององค์กรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ เช่น ศาสนาพุทธ มีศีล 5 ประกอบกับ ซี.พี.มีนโยบาย 6 คุณค่า และความสำคัญของผู้นำที่ไม่ใช่มีเพียง performance แต่ต้องมี value สร้างคุณค่าการพัฒนาบุคลากร ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนตลาด และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

“ถ้าองค์กรไม่บริหารศักยภาพของคน ถ้าองค์กรไม่สร้างผู้นำที่มีศักยภาพ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีคุณธรรม ก็มีปัญหาอยู่ องค์กรนั้นคงไม่ยั่งยืน ถ้าผู้นำคิดแต่เรื่องระยะสั้น เราก็มองว่าไม่ได้ ถ้าเราวัดตัวผู้นำ เราไม่ได้วัดในมิติของ performance แต่เราวัดในมิติของแวลูด้วยว่า แวลูที่จะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม ทำให้เกิดการมองระยะยาว คำนึงถึงคุณประโยชน์ หรือที่มาร์เก็ตพีเพิล มองตลาดเป็นหลัก ผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคของมาร์เก็ตพีเพิลอย่างแท้จริง” ศุภชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ซี.พี.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 12 ด้านตามนโยบาย “Sustainability Policy” โดยให้ความสำคัญกับ 6 คุณค่า และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนในประเทศที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจ ไม่ใช่เพียงหวังเฉพาะผลกำไรในการประกอบธุรกิจเท่านั้น

ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความยั่งยืนนั้นจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ซึ่งทาง ซี.พี.ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการประชารัฐ ตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา สร้างวิชาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำไปประกอบอาหารให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 700 โรง สร้างอาชีพคนพิการ สร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ

รวมทั้งคำนึงถึงการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่ผลิตได้ (Traceability) และการรักษาสภาพแวดล้อม เช่น การรณรงค์หยุดกินปลาเล็ก โดย ซี.พี.จะดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่า “หากมีความพอเพียงก็มีความสุขได้” และการทำธุรกิจต้องมีหลักแนวคิดตามศาสตร์พระราชา 3 ข้อ 1.”เข้าใจ” เนื้องาน 2.เข้าถึง” ชุมชน และ 3.”พัฒนา” เรียนรู้ร่วมกันซึ่งกันและกัน และพัฒนาความยั่งยืนที่ยึดหลักที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อกันและอยู่ร่วมกันได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุด

นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐภายใต้นโยบายสานพลังประชารัฐซึ่งนับว่าเป็นมิติใหม่ที่จะร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างบุคลากร และพัฒนาศักยภาพ โดยได้เข้าไปพัฒนาด้านการศึกษา 4 ข้อ และให้โอกาสเยาวชนได้กล้าแสดงออกให้สร้างความมั่นใจในสังคม และลบล้างทัศนคติเดิมที่ว่า ผิดเป็นครู เพราะปัจจุบันในทางปฏิบัติ ครูอาจจะบอกหรือสอนในวิธีที่ผิดก็ย่อมได้ ซึ่งในข้อนี้อยากให้เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนา จะทำให้เยาวชนมีความมั่นใจในศักยภาพมากกว่า

นายศุภชัย สรุปทิ้งท้ายว่า กุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืนมาจากองค์ประกอบ 3 ส่วน ความรัก ความฝัน และความมั่นคง

“ถ้าเราเอาความกลัวหรือความเกลียดชังเป็นตัวนำ ความมั่นคงของสังคมจะไม่มีจริง ถ้าเป็นครอบครัวจะแตกเป็นเสี่ยง ถ้าเราเอาความกลัวหรือความเกลียดชังเป็นตัวนำ ความฝันของเราจะไม่มีทางให้เรามีความสุขได้เลย ดังนั้นผมถือว่ามันเป็นสัจธรรม เป็นเรื่องจริง ที่ถ้าเรามีตรงนี้เป็นตัวนำ เท่ากับเรามีเข็มทิศที่ถูกต้องเสมอ ไม่เพี้ยน เป็นจริงตามธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเป็นหมวดหมู่ ไม่ว่าเราจะเรียกว่าสังคมเศรษฐกิจ และความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม ที่เราอยู่ก็จะเกิดความยั่งยืน”

ใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้หนี้เสียพนักงาน

นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ปรัชญาธุรกิจขององค์กรคือ ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจ โดยมิตรผลได้เข้าไปช่วยยกระดับเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 9 ตำบล 136 หมู่บ้าน และ 1 ชุมชน

“มิตรผลเดินหน้าพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามองว่าการทำธุรกิจไม่ใช่แค่การหาผลกำไร แต่ต้องคิดด้วยว่าจะยังประโยชน์ให้ผู้อื่นอย่างไร ซึ่งนอกจากการออกไปพัฒนาคนข้างนอกองค์กรแล้ว เรายังมองถึงคนในองค์กรของเราด้วย เพราะคนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรมีชีวิต และ Productivity ของพนักงานจะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน” บวรนันท์ระบุ

อย่างไรก็ดี Productivity ของพนักงานไม่ใช่แค่เรื่องทักษะหรือความสามารถในการทำงาน แต่องค์กรต้องมองครอบคลุมถึงเรื่องขวัญและกำลังใจด้วย ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้คือปัญหาหนี้สิน โดยเป็นปัญหาที่มีอยู่ในทุกองค์กร และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนขาดกำใจในการทำงาน

“มิตรผลได้จัดทำโครงการปลอดหนี้ ชีวิตมีสุขขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว อันมาจากการสำรวจพนักงานในองค์กรแล้วพบว่า พนักงานของเรามีกลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินผ่าน คือ มีสัดส่วนของรายจ่ายเท่ากับรายรับ และไม่มีเงินเก็บ”

ดังนั้น บริษัทจึงจัดตั้งกองทุน 20 ล้านบาทในการจัดการกับภาวะหนี้เสีย เพราะพนักงานเป็นหนี้นอกระบบเยอะมาก โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน ทั้งการแนะนำพนักงานให้มีการวางแผนทางการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือน การมีโค้ชทางการเงินให้ พร้อมกับมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ นายบวรนันท์กล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของประเทศ คือ การเริ่มต้นที่ตัวพวกเราเอง ไม่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยเปลี่ยน ถ้าเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เพื่อยั่งยืน ความเป็นประโยชน์ของผู้อื่น ผมว่าเราเริ่มทำกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภาคไหนก็ตาม”