“เอสซีจี” ผนึก “สตาร์ตอัพ” มุ่งวิจัยแก้ปัญหาขยะแม่น้ำเจ้าพระยา

ขยะทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกตระหนัก ทั้งยังต้องมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล เนื่องจากประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบก เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ขณะเดียวกัน การเก็บขยะทะเล (cleanup) ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

จากสาเหตุดังกล่าว “เอสซีจีโดยธุรกิจเคมิคอลส์” และ “The Ocean Cleanup” องค์กรสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย

โดยความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่ทะเลอย่างชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

ทั้งนี้ The Ocean Cleanup ยังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง “InterceptorTM” เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทยอีกด้วย

“โบยาน สลาต” Founder and CEO, The Ocean Cleanup บอกว่า ขยะในมหาสมุทรมีที่มาจากบนบกโดยไหลผ่านแม่น้ำลำคลองและทั่วโลกมีแม่น้ำประมาณ 1,000 แห่งที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลในปริมาณมาก คิดเป็นร้อยละ 80 ของขยะในมหาสมุทรทั้งหมด ทั้งนี้ The Ocean Cleanup ตั้งเป้าที่จะจัดการปัญหานี้ให้ได้ภายในปี 2568 โดยจะให้ความสำคัญกับแม่น้ำที่มีปริมาณขยะสูง 1,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรได้ ร้อยละ 80

“การจะกำจัดขยะทะเลนั้น นอกจากการเก็บขยะแล้ว การป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันปิดกั้นไม่ให้รั่วไหล โดยเราจะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้ ด้วยนวัตกรรม InterceptorTM ซึ่งเป็นโซลูชั่นของปัญหาขยะทะเล”

“ปัจจุบันเราทำการทดลองติดตั้งแล้ว 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และอยู่ระหว่างการติดตั้งแห่งที่ 3 ในเวียดนาม โดยมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยเป็นลำดับถัดไป สำหรับการร่วมงานกับเอสซีจีนั้น เราเห็นถึงความทุ่มเท และความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังมั่นใจว่า passion ของเอสซีจีในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจะช่วยผลักดันให้เราทำตามเป้าหมายให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว”

“เกส ปีเตอร์ ราเดอ” เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการนำหลัก circular economy และเทคโนโลยี รวมถึงมองหาแนวทางใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการกับปัญหาขยะ สถานทูตเนเธอร์แลนด์จึงมีความยินดีที่ร่วมมือกับภาคเอกชนของไทยอย่างเอสซีจีภาครัฐ และ The Ocean Cleanup ซึ่งเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

“ดร.สุรชา อุดมศักดิ์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า ปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลในปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 มาจากขยะจากบกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางทะเล

“ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ตรงจุดที่สุด คือ การบริหารจัดการขยะจากบกให้มีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่โดยไม่เกิดการหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง อย่างไรก็ตาม การนำขยะจากแม่น้ำขึ้นมาจัดการให้ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำจะเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลและมหาสมุทร”


“ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง The Ocean Cleanup ครั้งนี้ เราหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอสซีจีพร้อมร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป”