บริหารสไตล์กรุงไทย-แอกซ่าฯ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

"บุปผาวดี โอวรารินท์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และความท้าทายในปัจจุบัน ทำให้องค์กรต้องพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดย บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มองว่าการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยั่งยืนคือการพัฒนาไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ซึ่งบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีความต้องการที่จะเป็น learning organization ที่มีผู้บริหารที่สนับสนุนเรื่องการเรียนรู้เพื่อต้องการให้เกิดการเรียนรู้ที่แตกต่าง โดยเน้นทักษะที่จำเป็นในอนาคต ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การทำวิจัยเพื่อค้นหาเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และดูว่าต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง จากนั้นจึงนำมาทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมขององค์กร

“บุปผาวดี โอวรารินท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวในงาน Thailand HR Day 2019 ที่จัดโดย PMAT-สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ว่า รูปแบบการเรียนรู้ขององค์กรมีหลายแบบ ได้แก่

หนึ่ง e-Learning & blended ที่ผสมผสานการเรียนรู้จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ, สอง talent management จะโฟกัสไปที่เส้นทางการเติบโตของพนักงาน โดยจะใช้การเรียนรู้แบบ social learning จากผู้บริหารโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

“สาม continuous learning ยังคงใช้รูปแบบ 70 : 20 : 10 (เรียนรู้จากงาน 70% เรียนรู้จากคนอื่น 20% และเรียนรู้จากห้องเรียน 10%) แต่มีการเพิ่มให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การเรียนผ่านวิดีโอ เรียนออนไลน์, สี่ digital learning เรียนรู้ผ่านวิดีโอที่เป็นสถานการณ์จริงในปัจจุบัน สามารถเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทุกที่ทุกเวลา ห้า intelligent learning ด้วยการนำ AI มาช่วยในการเรียนรู้ โดยองค์กรจะมีการจัดทำ training need analysis เพื่อดูว่าพนักงานต้องการอะไร มีความสอดคล้องกับงานที่ทำหรือไม่ แล้วจึงนำไปพูดคุยกับหัวหน้าของเขาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจะนำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนารายบุคคล”

“นอกจากนั้น การเรียนรู้ยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ executive, manager และ staff โดยการเรียนรู้มาจากหลายรูปแบบ เช่น TED Talks, Coursera, LOMA, AXA University, half day learning ที่ให้พนักงานสอนกันเอง เรียกว่า show share shine เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีจะให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ส่วนองค์กรมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เกิดเป็น self-learning culture ทั้งยังมีการเรียนรู้ที่เรียกว่า peer coaching เป็นกลุ่มที่คอยช่วยเหลือกัน ทำให้มีมุมมองและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย แต่จะต้องเก็บเรื่องที่ปรึกษาไว้เป็นความลับ”

“บุปผาวดี” กล่าวด้วยว่า เมื่อองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงจึงมีการจัดทำหลักสูตรหนึ่งขึ้นมาสำหรับระดับผู้จัดการขึ้นไป เรียกว่า accelerate program มีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ได้แก่ หนึ่ง ระบุว่าคุณมีเรื่องอะไรที่ท้าทาย หรือคุณมีปัญหาอะไรบ้าง สอง คือมาเรียนด้วยกันสองวันครึ่ง และสามคือ peer coaching โดยรูปแบบการเรียนจะมี front facilitator โดยผู้สอนจะอยู่หน้าห้อง และมี back facilitator อยู่หลังห้องเพื่อคอยช่วยเหลือและสังเกตการณ์ ระหว่างการเรียนจะมี visual facilitator ที่จะสรุปบทเรียนออกมาเป็นแผนภาพ สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ คือ เมื่อเรียนรู้แล้วต้องสามารถวาด เขียน หรือแสดงความคิดเห็นออกมาได้ นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าการเรียนรู้แค่เพียงครั้งเดียวจะทำให้ลืมได้ง่าย เราจึงต้องเรียนซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

“ที่สำคัญ เรายังเพิ่มเทรนด์ใหม่ในการเรียนรู้ที่มากกว่าความสนุก คือ gamification ด้วยการใช้เทคนิคในรูปแบบของเกมมาประยุกต์ให้เข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย โดยบริษัทกรุงไทย-แอกซ่าฯได้จัดกิจกรรม AXA learning week คือการแข่งขันเกมกับบริษัททุกสาขาทั่วโลก ใช้ธีมการแข่งขันแบบการแข่งกีฬาโอลิมปิกมุ่งเน้นที่เรื่องของ customer first เป็นหลัก และมีคอนเซ็ปต์ know you can โดยพนักงานทุกคนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเกม และเล่นเกมกับพนักงานจากทั่วโลกได้ มีการถ่ายทอดการประกาศผลรางวัลไปทั่วโลก ทำให้เกมนั้นกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงพนักงานจากทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ นอกจากนี้ เกมยังช่วยในการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับพนักงาน”


นับเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทำให้พนักงานอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง