คิดเชิงรุก “ดิจิทัลโค้ช” “ต้องรอบรู้เท่าทันโลก-เทคโนโลยี”

อาจเป็นเพราะยุคดิจิทัล จึงทำให้รอบ ๆ ตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง “Speed” ภาคแรก ที่พระเอก “คีอานู รีฟส์” เล่นบทนายตำรวจที่พยายามจะรักษาความเร็วของรถประจำทางไม่ให้ต่ำกว่า 50 ไมล์ต่อชั่วโมง เพื่อให้สามารถหยุดรถได้

“John Chambers” อดีต CEO ของบริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ เคยกล่าวถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณ 1 ใน 3 ของธุรกิจที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะปิดตัวไป และธุรกิจที่มีโอกาสจะอยู่รอดคือผู้ที่ผันตนเองเข้าสู่ดิจิทัล กระนั้นก็ตาม บางองค์กรก็จะล้มเหลวในความพยายามเหล่านั้น

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ “ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และโค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติเฝ้าจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก และภายใน

“เพราะองค์กรธุรกิจพยายามปรับเปลี่ยนให้ทันกาล และต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองในการรับมือ เพื่อไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งหันมาใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ นี้ให้ได้ ที่สำคัญ มีการทบทวนสมรรถนะของผู้นำในยุคดิจิทัลกันใหม่ว่าเพียงพอหรือยัง ในการที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน”

งานวิจัยที่มีหัวข้อชื่อว่า Leader of the Future โดย “ดร.มาแชล โกลด์สมิท” และทีมงาน คือหนึ่งในการวิจัยล่วงหน้าเพื่อพยายามทำนายสมรรถนะของผู้นำที่มีประสิทธิผล โดยผลการวิจัยระบุชัดเจนว่าผู้นำในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในระดับโลก และรู้เท่าทันเทคโนโลยี อีกทั้งมีความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วม และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากทักษะการโค้ชบุคลากรที่มีประสิทธิผลทวีความสำคัญยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเอื้ออำนวยความสามารถในการเปลี่ยนแปลงให้ทันกาล องค์กรจำเป็นต้องมีโครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กรที่เสริมความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง และผู้บริหารและผู้จัดการจำเป็นต้องมีทักษะ และเครื่องมือในการพัฒนาคนเข้าสู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่ทันกาล

“การสนทนาแบบโค้ชของหัวหน้ากับลูกน้องจำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอ ๆ เรียกว่าอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรกันเลยทีเดียว เพื่อช่วยสร้างกลไกให้คนเกิดความเข้าใจ และประสานพลังไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องกัน เรือที่มีสมาชิกที่ต่างคนต่างพายไปคนละทิศ ย่อมไปถึงเป้าหมายได้ช้ากว่าเรือที่พายไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ทักษะการโค้ชได้ทันทีที่จำเป็นในแต่ละวัน ทักษะนั้นต้องช่วยประหยัดเวลา สร้างทัศนคติ และความคล่องตัวในการเรียนรู้ (Learning Agility) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิผล”

นอกจากนั้น “ดร.อัจฉรา” ยังกล่าวถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร คือยังไม่มีเครื่องมือที่ชัดเจนในการที่จะขับเคลื่อนคุณสมบัติเหล่านี้ รวมถึงผู้นำทีม และหัวหน้าทีมยังขาดกระบวนความคิด (Mindset) และทักษะที่จะทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งไม่แน่ใจว่าจะเริ่มตรงไหนดี

“ช่วงเดือนตุลาคม 2559-พฤษภาคม 2560 ผ่านมา บริษัทของเราได้รับความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจ 50 แห่ง ในการศึกษาสถานะในปัจจุบัน และปัจจัยสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร องค์กรเหล่านั้นมาจาก 20 ธุรกิจที่แตกต่างกัน เช่น สายการบิน, ธนาคาร, เคมีภัณฑ์, ประกันภัย, อิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์, เครื่องดื่มและอาหาร, อสังหาริมทรัพย์, สุขภาพ, การสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น”

“โดยการใช้แบบสำรวจความคิดเห็น มีการร่วมให้ข้อมูลโดยผู้บริหาร 200 ท่าน การศึกษานี้มุ่งไปที่ผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านการโค้ชแล้ว และมีความเข้าใจชัดเจนแล้วว่าการโค้ชไม่เหมือนการสั่งสอน และไม่เหมือนการบอก หรือการกำหนดให้ทำ และไม่ใช่การตามงาน เพื่อให้แน่ใจว่า การศึกษานี้ระบุไปที่วัฒนธรรมการโค้ชเท่านั้น”

ผลของการศึกษาเบื้องต้นให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน จากปัจจัยสำคัญ 9 ข้อที่ช่วยก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการโค้ช โดยข้อที่มีแนวโน้มที่ดีในปัจจุบันคือ (Figure 1.1) ที่บอกว่า 80% ของผู้ให้ข้อมูลเห็นด้วยว่าคนในองค์กรของเขามีความเชื่อไปในทางเดียวกัน ว่าการโค้ชสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่ 76% ของผู้ให้ข้อมูล เห็นด้วยว่าองค์กรกำลังส่งเสริมให้เกิดการโค้ชที่ถูกต้อง และเชื่อมโยงการโค้ชกับวัฒนธรรมองค์กร ส่วน 53% ของผู้ให้ข้อมูล เห็นด้วยว่าองค์กรลงทุนในการพัฒนาและอบรมทักษะการโค้ชให้ผู้บริหารและผู้จัดการในองค์กร

สำหรับปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เช่น เพียง 35% ที่เห็นได้ชัดว่ามีการระบุผู้รับผิดชอบในการสานต่อวัฒนธรรมการโค้ช, เพียง 32% ที่เห็นได้ชัดว่า เรามีการสื่อสารด้านการโค้ชเพียงพอในองค์กร, เพียง 28% ที่เห็นได้ชัดว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าของเขาเองให้มีการโค้ชอย่างต่อเนื่อง เช่น มีตัวอย่างที่ดี และได้รับการชมเชยเมื่อเขาโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาได้สำเร็จ

ส่วนด้านการอบรมทักษะการโค้ช ประมาณ 64% เคยได้รับการอบรม 1-3 วัน จากองค์กรปัจจุบันที่ทำงานอยู่ มากที่สุดคือ 6 วัน ซึ่งมีเพียง 28% ในด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลในการเรียนรู้ทักษะการโค้ช ผู้ให้ข้อมูลระบุว่า ปัจจัยที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือผู้สอนทักษะการโค้ช (Instructor) รองลงมาคือความมุ่งมั่นของตนเอง ตามด้วยการเรียนการสอนที่ทำให้เขานำไปปฏิบัติได้จริง

สำหรับปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้นำ และผู้จัดการในองค์กรใช้การโค้ชอย่างต่อเนื่อง หรือรักษาวัฒนธรรมการโค้ชไว้ “ดร.อัจฉรา” บอกว่า ปัจจัยอันดับหนึ่งคือการได้รับทิศทาง และการสื่อสารที่ชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูง และความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และผู้จัดการที่ทำหน้าที่โค้ช และอันดับสองคือได้รับการส่งเสริมด้านทักษะการโค้ชที่เพียงพอ

“ท่ามกลาง Disruptive Technology องค์กรใหญ่ที่เปลี่ยนได้ช้า จะเผชิญความเสี่ยงตามคำพูดที่ว่าปลาเล็กอาจจะกินปลาใหญ่ จะโต้คลื่นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ยืนอยู่เหนือคลื่นได้ และไม่ถูกกลืนหายไปในการเปลี่ยนแปลง การรอคอยให้เกิดผลกระทบแล้วค่อยปรับองค์กร (Adapt) อาจไม่เพียงพอในการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งเร็วขึ้น และไม่หยุดหย่อน”

“ทั้งยังอาจต้องใช้คำที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น นั่นคือเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อให้เติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลง (Thrive) เพราะวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะเตรียมความพร้อม และส่งเสริมให้องค์กรก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกได้ทั้ง 3 ระดับคือ ระดับกระบวนการในองค์กร (Process) ระดับทีม (Team) และระดับบุคคล (Individual)ที่ต่างล้วนเป็นเครื่องมือที่ทำให้โค้ชคิดเชิงรุกเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่กำลังไหลบ่าเข้ามา