7 แนวทางผู้ลงทุน รับมือสถานการณ์โควิด-19 (จบ)

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สถาบันไทยพัฒน์

แนวทางที่ 3 : ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์ในประเด็นอื่น ผู้ลงทุนควรปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทที่อยู่ในระหว่างการจัดการวิกฤต โดยเน้นที่ประเด็นโควิด-19 มากกว่าประเด็นอื่นในช่วงสถานการณ์ การหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบควรมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และการรับมือกับสถานการณ์ การอภิปรายในประเด็นอื่น ๆ ควรเลื่อนออกไปตามที่เป็นไปได้ เพื่อเอื้อให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการ มีความสามารถที่จะเน้นเรื่องการจัดการวิกฤตเป็นสำคัญ

แม้เป็นการสานสัมพันธ์ในเรื่องโควิด-19 โดยที่มิได้มีหลักฐานแสดงว่าบริษัทมีพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ ผู้ลงทุนควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะให้เวลาและให้โอกาสบริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการให้ก้าวผ่านวิกฤต

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทในช่วงสถานการณ์ โดยเน้นที่ประเด็นโควิด-19 เหนือประเด็นอื่นในระหว่างการจัดการวิกฤต

-ปรึกษาหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการ

แนวทางที่ 4 : สนับสนุนอย่างเปิดเผย ต่อการรับมือทางเศรษฐกิจโดยรวม

ผู้ลงทุนควรใช้เสียงในฐานะมหาชน ผลักดันรัฐบาลและบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม ด้วยเสียงอันเป็นที่ยอมรับในภาคการเงิน ผู้ลงทุนควรแสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐในระดับที่จำเป็นต่อการทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสมในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจโลก

การส่งสัญญาณประชาคม สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารความคาดหวังไปยังบริษัทที่ลงทุน (investees) โดยไม่ทำให้เกิดการหันเหการใช้ทรัพยากรของบริษัทไปจากการจัดการวิกฤต ผู้ลงทุนสามารถแสดงทรรศนะผ่านทางเว็บไซต์ ถ้อยแถลงผ่านสื่อ และในการประชุมสามัญประจำปี เป็นต้น

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

-ใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น ผลักดันบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้ทรัพยากรของบริษัทสำหรับการจัดการวิกฤต

แนวทางที่ 5 : มีส่วนร่วมในการประชุมสามัญประจำปีเสมือนจริง (Virtual AGMs) ผู้ลงทุนควรใช้ช่องทางเสมือนจริงในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแลบริษัทที่ลงทุน (investees) ได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meetings : AGMs) เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ลงทุนในการซักถาม และเน้นการสนับสนุนต่อเรื่องการจัดการทุนด้านมนุษย์ที่รับผิดชอบ การให้ลำดับความสำคัญในการจัดการทางการเงินระยะยาวเหนือการจ่ายปันผลและการซื้อ (หุ้น) คืน การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการในการจัดการวิกฤตและการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ รวมทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ลงทุนในการเน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่นอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งบริษัทมิอาจเพิกเฉย อาทิ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (climate emergency)

ขณะที่การใช้ช่องทางการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีออนไลน์ได้ถูกหยิบยกเป็นข้อกังวลด้านการกำกับดูแลกิจการ (governance) มาก่อนหน้านี้ แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ผู้ลงทุนพึงใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวทดแทนการประชุมแบบซึ่งหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าการควบคุมดูแล (oversight) บริษัทที่ลงทุนยังคงดำเนินต่อไปอย่างเหมาะสม

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

-เน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่บริษัทมิอาจเพิกเฉย นอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 ทั้งประเด็นความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

แนวทางที่ 6 : พร้อมรับคำขอความช่วยเหลือต่อการสนับสนุนทางการเงิน

ผู้ลงทุนควรเปิดช่องให้การสนับสนุนบริษัท ลูกหนี้ และรัฐบาล ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และด้วยการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้ เนื่องจากบริษัทได้รับแรงกดดันทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ผู้ลงทุนไม่ว่าจะมีสินทรัพย์ที่ลงทุนประเภทใด อาจได้รับการร้องขอให้ช่วยในเรื่องการผ่อนปรนหนี้ หรือข้อผูกพันทางการเงินจากเงื่อนไขปกติ ซึ่งตามธรรมดาจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่ถ้าหากทำได้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้การช่วยเหลือผ่อนผันให้มากเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมอย่างสอดประสานกัน

ผู้ลงทุนที่มีโอกาสสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ ควรที่จะเข้าร่วมโดยไม่รีรอ

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-ให้การสนับสนุนบริษัท และลูกหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

-เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อช่วยสอดประสานให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

แนวทางที่ 7 : คงจุดเน้นที่มุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

ผู้ลงทุนควรปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรทบทวนสถานะและการซื้อขาย

หลักทรัพย์ รวมถึงที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว รวมทั้งคำนึงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลที่อาจเกิดขึ้นจากการขายชอร์ต (short selling) หรือการยืมหลักทรัพย์มาเพื่อขายทำกำไรในภาวะตลาดขาลง ที่ทำให้สถานการณ์ทรุดหนักยิ่งขึ้น

Checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการ

-ปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

-ทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว