“ไทยเบฟ” ผนึก “ประชารัฐ” ผ้าขาวม้าท้องถิ่นสู่หัตถศิลป์ไทย

นับตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่โครงการสานพลังประชารัฐกำเนิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ด้วยเป้าหมายช่วยกันแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของคนไทย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ กระทั่งนำมาสู่การจัดตั้งบริษัทในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด” จำนวน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ประเทศไทย จำกัด โดยผนึกกำลังร่วมกับบริษัทเอกชน 20 บริษัท เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยการเน้นการทำงานใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร,แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชนจนเกิดผลสำเร็จสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศกว่า 60,000 ครัวเรือน

ดังนั้น จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวเรือใหญ่คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐระบุว่า การร่วมมือกันของประชารัฐผลักดันจนบรรลุผลงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมถึง 543 ล้านบาท จนเป็นผลทำให้การเติบโตของยอดขายสินค้าชุมชน (OTOP) เติบโตขึ้นจาก 109,000 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 190,000 ล้านบาทในปี 2562

นอกจากนั้น ยังสร้างรายได้จากการทำโครงการหลักอีกหลายโครงการอันได้แก่ โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยที่มีเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีเข้าร่วม29 จังหวัด จัดส่งสินค้าเกษตรให้กับโรงพยาบาล 41 แห่ง, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านรายการชื่นใจไทยแลนด์ ออกอากาศทางอมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ดำเนินการแล้ว 144 ตอน ครอบคลุม 73 จังหวัด รวม 126 ชุมชน จนส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20-70%

รวมถึงโครงการเครื่องสีข้าวครัวเรือน ที่ร่วมกับพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมเครื่องสีข้าวครัวเรือนมีขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย ปลอดภัย และใช้ได้กับข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญโครงการนี้ยังช่วยสร้างช่องทางขายใหม่ให้กับชาวนาที่ผลิตข้าวพันธุ์พื้นถิ่นต่าง ๆให้กับประชาชนเลือกบริโภคข้าวหลายสายพันธุ์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องสีข้าวครัวเรือนพร้อมสีกว่า100 เครื่องแล้ว

สำคัญคือ “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” อันถือเป็นโครงการที่บริษัทประชารัฐฯพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 เพราะผ้าขาวม้าเป็นผ้าท้องถิ่นของไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ มีชุมชนหลายแห่งยึดทอผ้าขาวม้าเป็นอาชีพหลัก และถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างแบรนด์และจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูง

ด้วยเหตุนี้คณะทำงานโครงการผ้าขาวม้า โดยการดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงมีความคิดริเริ่มที่จะสร้างความตระหนักถึงความหลากหลาย และประโยชน์ใช้สอยของผ้าขาวม้าให้กับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่พร้อม ๆ กับการพัฒนาคุณภาพของเทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

“ต้องใจ ธนะชานันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยมีชุมชนทอผ้าขาวม้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน และมีวิธีการทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับผ้าทอชนิดอื่น บริษัทจึงหยิบเรื่องราวของผ้าขาวม้ามานำเสนอ และเพิ่มคุณค่า มูลค่าให้กับผ้าขาวม้าชุมชน เพราะเรามีกลุ่มเป้าหมาย 2 ด้าน โดยด้านแรกคือ ผู้ผลิต มีชุมชนผลิตผ้าขาวม้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 69 ชุมชน ซึ่งชุมชนเหล่านี้คัดเลือกจากชุมชนที่มีความโดดเด่นด้วยสีสัน เทคนิคการย้อมสีหรือเรื่องราวที่น่าสนใจ

โดยยึดหลักการทำงานด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน 4 มิติคือ

หนึ่ง การสร้างความตระหนักรู้ และความสนใจในผ้าขาวม้าทอมือกับกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

สอง การสร้างนวัตกรรมการผลิต และแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน

สาม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ การใช้สีธรรมชาติ และ

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์

สี่ การผลักดันให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนทั้งในด้านลิขสิทธิ์ลายผ้า เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร

“ภายใต้มิติเหล่านี้มีการดำเนินการภายใต้ประชารัฐของแต่ละจังหวัด และมีภาคเอกชน สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการผลิต เช่น การทำให้สีไม่ตก,เนื้อผ้าไม่หด หรือมีการนำเรื่องเทคโนโลยีนาโนผสมผสานเข้ามาเพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือเป็นผ้าสะท้อนน้ำ เป็นผ้ากันยุงได้ ทั้งยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น แปรรูปเป็นผ้าพันคอ, กระเป๋า, กำไล, ต่างหู ฯลฯ นอกจากนั้น เรายังเพิ่มทักษะทางด้านธุรกิจให้กับชุมชน เช่น สร้างโลโก้, สร้างการติดต่อขายสินค้าบนออนไลน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกิดผลสำเร็จในการจดเครื่องหมายการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว 13 ลิขสิทธิ์ที่เป็นลวดลายเฉพาะของแต่ละชุมชน และ 8 เครื่องหมายการค้ายังมี 1อนุสิทธิบัตร”

“ยกตัวอย่างผ้าขาวม้าที่ได้รับเครื่องหมายการค้าอย่างแบรนด์นุชบาถือเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างคลัสเตอร์ระหว่างชุมชนทอผ้าขาวม้ามากกว่า 50 ชุมชนในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง สินค้าผ้าขาวม้าแปรรูปที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์นี้ได้รับความสนใจจนมีออร์เดอร์หลั่งไหลมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงตลาดออนไลน์ ส่งผลให้บางเดือนนั้นมียอดขายทะลุหลักล้าน”

“ส่วนด้านที่สอง ผู้บริโภคกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ้าขาวม้าให้มีความทันสมัย เพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น ไม่ใช่ผ้าขาวม้าผืนละ 80-100 บาท แต่เป็นผ้าขาวม้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง แล้วให้ศิลปินดารามาสวมใส่เพื่อโปรโมตและเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ้าขาวม้าใหม่ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น ทั้งยังสรรหากิจกรรมเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม เช่น มีการประกวดการออกแบบผ้าขาวม้า โดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น สินค้า เคหะสิ่งทอ เก้าอี้ โคมไฟ รวมถึงสินค้าเครื่องประดับ กระเป๋าถือ สร้อยคอ ซึ่งการประกวดไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ยังประกวดในระดับอาเซียนด้วย เพราะทราบว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนนี้ก็มีผ้าขาวม้าเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายผ้าขาวม้าผ่านอินสตาแกรมชิงเงินรางวัล”

“ต้องใจ” กล่าวต่อว่า ตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาโครงการผ้าขาวม้าสามารถสร้างรายได้ไปแล้วมากกว่า 80 ล้านบาท มาจากการขายผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ประชารัฐฯจังหวัดช่วยส่งเสริมไม่ว่าจะช่องทางออนไลน์ การนำไปขายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และในฐานะบริษัทส่วนกลาง เราพยายามเชื่อมโยงเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วม โดยอย่างน้อยขอให้เอกชนซื้อสินค้าของชุมชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตนเอง เช่น ไทยเบฟ มีการซื้อเพื่อไปตัดเย็บชุดยูนิฟอร์ม หรือ S&P ซื้อไปวางขายในร้านเพื่อโปรโมตถุงผ้ารักษ์โลก เอไอเอสซื้อกระเช้าผ้าขาวม้า เซ็นทรัลทำการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้วางขายสินค้า ฯลฯ

“ในปี 2563 เราจะดำเนินงานทุกโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการผ้าขาวม้า มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาออกแบบเพื่อร่วมพัฒนาสินค้าชุมชน ได้แก่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.กรุงเทพ วิทยาลัยเพาะช่าง ราชภัฏสวนสุนันทา ม.ธรรมศาสตร์ ม.รังสิต โดยมหาวิทยาลัยจะเลือกรายชื่อชุมชนที่พวกเขาสนใจและลงพื้นที่ไปพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้าร่วมกับชุมชน”

“ที่สำคัญเรามีแผนสรรหาชุมชนอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการด้วย แต่ต้องดูความพร้อมของชุมชนก่อนว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าหรือช่องทางการจำหน่ายหรือไม่ อีกทางหนึ่งก็มีความใฝ่ฝันที่จะพาผ้าขาวม้าออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องผลักดันร่วมกันต่อไป”

“ผลสำเร็จของโครงการเราดูจากการที่ชุมชนพึ่งตนเองได้ และจากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าชุมชนบางแห่งแม้จะทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่รายได้หลักกลับมาจากการทอผ้าขาวม้า หรือแม้แต่บางรายสามารถนำเงินจากการทอผ้าขาวม้าส่งบุตรหลานเรียนได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนผลสำเร็จของโครงการเป็นอย่างดี”

อันเป็นภาพรวมโครงการที่คณะทำงานอยากให้ผ้าขาวม้าสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน