สำรวจความยั่งยืน ของ 115 กิจการไทย

สถาบันไทยพัฒน์
คอลัมน์ CSR Talk

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เป็นธรรมเนียมช่วงสิ้นปีจะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี 2563 เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและการตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปี 2564 ต่อไป

สถาบันไทยพัฒน์ได้ประมวลข้อมูลความยั่งยืนของกิจการไทยจำนวน 115 แห่ง จัดทำเป็นรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการปี 2563 หรือ “The State of Corporate Sustainability in 2020” จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเผยแพร่ให้กับองค์กรที่สนใจนำข้อมูลการสำรวจดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

ในรายงานแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก ดังนี้

หมวดแรก – เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI

หมวดที่สอง – เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (environmental, social and governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges : WFE)

หมวดที่สาม – เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ตามแนวทาง GCI (guidance on core indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting : ISAR)

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่ากิจการราวกว่า 2 ใน 3 (73.91%) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิงมาตรฐานการรายงานสากล GRI โดยเป็นการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานแห่งความยั่งยืนในแบบแยกเล่มมากสุด (73.04%)

รองลงมาเป็นการเปิดเผยรวมอยู่ในรายงานประจำปี (23.48%) โดยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรเปิดเผยมากสุดในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจและการต่อต้านทุจริตในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน การใช้น้ำมลพิษทางอากาศ น้ำทิ้งและของเสีย ในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และชุมชนท้องถิ่น

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่ากิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นจริยธรรมและการต้านทุจริต มีสัดส่วนสูงสุด (95.65%) รองลงมาเป็นความอิสระในคณะกรรมการบริษัท (89.57%) ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (88.70%) และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (87.83%) ตามลำดับ

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่ากิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย SDGs ที่ได้รับการตอบสนองมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูลในมาตรฐานการรายงานสากล GRI standards เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (culture of health business practice : COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับ

การดำเนินงานด้านสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิดใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์, ด้านนโยบายและสวัสดิการ, ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน

โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ, ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ, การประกันสุขภาพ, ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

ในผลการรวบรวมข้อมูลในมุมมอง COHBP พบว่าการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ (88.70%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (72.17%) ตามลำดับ

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าวที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป