
ย้อนกลับไปปี 2554 ขณะนั้นหมู่บ้านทับไฮ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ประสบปัญหามลพิษทางกลิ่นจากการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะมูลสัตว์จากสุกร ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และแพร่พันธุ์เชื้อโรค ซึ่งมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จนเป็นภาระของชุมชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแล และจัดการกับปัญหา เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน
สิ่งที่ชุมชนดำเนินการคือพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางแก้ไข ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง และจะต้องเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว จึงเกิดแนวคิดในการจัดทำบ่อก๊าซชีวภาพ (bioGas) โดยสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมดอย่างเป็นระบบ
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
“ละม่อม สิทธิศาสตร์” ผู้ใหญ่บ้านทับไฮ ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี บอกว่าชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร และมีกลุ่มเลี้ยงสัตว์ เดิมนำมูลสัตว์ไปใส่ไว้ในไร่นา แต่ด้วยปริมาณที่เยอะมากจึงเกิดมลพิษ ทางหมู่บ้านจึงระดมความคิด จากนั้นจึงไปดูงานด้านการเกษตรเกี่ยวกับบ่อก๊าซชีวภาพ เพื่อมาดำเนินงานในชุมชน โดยเริ่มต้นจาก 7 ครัวเรือน
กระบวนการที่เกิดขึ้นคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และกำจัดสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มด้วยการทำบ่อก๊าซชีวภาพ จนนำมาสู่การจัดการพลังงานทดแทนในชุมชน ช่วยลดปัญหาขยะ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงสำหรับชุมชน และโรงเรียนในหมู่บ้าน
เพราะการทำบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งได้ก๊าซมีเทนมาเป็นเชื้อเพลิงสามารถทดแทนการใช้ก๊าซแอลพีจีได้ประมาณเดือนละ 1 ถัง ประหยัดเงินได้ 300-400 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่เศษมูลสัตว์ที่เหลือจากบ่อก๊าซชีวภาพยังสามารถนำไปใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเดือนละ 300 บาท
“ไม่เพียงแต่การส่งเสริมผู้ใหญ่ ผมมองว่ายังเป็นการสอนลูกหลานให้รู้จักวิธีกำจัดขยะเปียก และรู้จักอดออม เพราะเราต่อยอดโครงการด้วยการส่งเสริมให้เกิดการออมในครัวเรือน โดยการทำอาหารแต่ละครั้งให้แต่ละบ้านหยอดเงิน 1 บาท ซึ่งปีที่ผ่านมามีการสำรวจครัวเรือนใน ต.แสงสว่าง พบว่าเงินที่ได้จากการออมช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 900-1,000 บาทในครอบครัวขนาดเล็ก ส่วนครอบครัวขนาดใหญ่มีเงินออม 2,000-3,000 บาท”
ตอนนี้ ต.แสงสว่างมีบ่อก๊าซชีวภาพ 173 บ่อ จำนวนนี้อยู่ในหมู่บ้านทับไฮ 60 กว่าบ่อ ซึ่งการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วจากจุดเริ่มต้นมาจากการได้รับการผลักดันจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) ซึ่งสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรตั้งแต่ปี 2559 โดยได้งบประมาณปีละ 3.5 แสนบาทสำหรับการก่อสร้างบ่อก๊าซชีวภาพ 31 บ่อ และจากความเข้มแข็งของชุมชน ที่สุดจึงทำให้หมู่บ้านทับไฮกลายเป็นต้นแบบให้กับชุมชนใกล้เคียงและจังหวัดอื่น ๆ
ทั้งนั้น พื้นที่ของหมู่บ้านทับไฮอยู่ในบริเวณโครงการสินภูฮ่อม ของ ปตท.สผ. “กิตติศักดิ์ หิรัญญะประทีป” ผู้จัดการอาวุโส โครงการร่วมทุนบนฝั่ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ชุมชนอยู่ภายใต้การดูแลของ Hess Corporation แต่หลังจากที่ ปตท.สผ.เข้าซื้อ Hess Corporation เมื่อปี 2557 ก็ได้เดินหน้าจัดทำโครงการอย่างต่อเนื่อง
“เราต่อยอดด้วยการให้งบประมาณและบุคลากร เพื่อเข้ามาส่งเสริมให้โครงการขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาให้องค์ความรู้เพิ่มเติมอื่น ๆ กับชุมชน อย่างการปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างบ้าน เพราะสามารถปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อไปแลกกับมูลสัตว์ของบ้านอื่น แล้วนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการทำก๊าซชีวภาพ”
สำหรับต้นทุนการดำเนินการอยู่ที่ 8,500 บาทต่อบ่อ และใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีก็จะคุ้มทุน เมื่อเข้าสู่
ปีที่ 3 จะถือเป็นกำไรของชาวบ้าน ซึ่งโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มี 112 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงเรียนถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะทุกโรงเรียนต้องใช้ก๊าซหุงต้มในการประกอบอาหารให้กับนักเรียน ทำให้เห็นผลลัพธ์ได้เลยว่าเมื่อทำบ่อก๊าซชีวภาพสามารถประหยัดเงินลงไปได้เยอะ
“กิตติศักดิ์” บอกว่า ปตท.สผ.มีแผนต่อยอดโครงการบ่อก๊าซชีวภาพไปยังพื้นที่ปฏิบัติการอื่นของบริษัท อย่าง จ.สุพรรณบุรี, พิษณุโลก, สุโขทัย และกำแพงเพชร โดยอยู่ระหว่างการพูดคุยและหาความเหมาะสมของการดำเนินงานในพื้นที่ เพราะวัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันตามแต่อาชีพของชาวบ้าน จึงต้องดูว่าหากนำโครงการนี้ไปใช้แล้วจะประสบผลสำเร็จหรือไม่
ในทางเดียวกัน ได้นำหมู่บ้านทับไฮเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ให้กับเยาวชนค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 4 ภาคอีสาน เพื่อเยาวชนได้ศึกษาถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นไปตามแนวทางของหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างใกล้ชิด
“ตลอดระยะเวลาที่หมู่บ้านทับไฮร่วมกันพลิกวิกฤตปัญหาขยะ และสิ่งปฏิกูลจากมูลสัตว์ให้กลายเป็นพลังงานที่มีคุณค่า จนกลายเป็นบทพิสูจน์ให้เราเห็นว่า นี่เป็นโมเดลที่สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานที่มีประโยชน์ และชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้”
อันสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ถือว่าเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และไม่เป็นหนี้ เพราะการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ในครัวเรือน ทำให้ชุมชนไม่ต้องไปซื้อก๊าซหุงต้มจากข้างนอก ช่วยประหยัดเงิน และเกิดการออมในระยะยาว