กระทรวงแรงงานค้านสูตรคำนวณค่าแรงคนพิการ

ผู้พิการ

ก.แรงงาน-พม.ประสานเสียง “ไม่เห็นด้วย” ปรับสูตรคำนวณค่าแรงจ้างคนพิการเข้าทำงาน ตามที่ ส.อ.ท.ยื่นเสนอ หวั่นลิดรอนสิทธิ ล่าสุดจ้างงานคนพิการไปแล้วที่ 1.4 หมื่นราย ยังเหลืออีก 21.63% ที่ต้องจ้างเพิ่มอีกกว่า 1.8 หมื่นราย

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงานครั้งที่ 1/2564 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการหารือตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เสนอให้ใช้จำนวนวันทำงานจริงที่ 313 วัน แทนที่จะใช้การคำนวณจากจำนวนวัน 365 วัน และในการคำนวณการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปรากฏว่าได้กลายเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้ประกอบการต่อการจ้างแรงงานคนพิการตามพระราชบัญญัตินี้

แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดนั้นแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่แสดงความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอของ ส.อ.ท. เนื่องจากมองว่าตามข้อเสนอนั้นถือเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ” ของผู้พิการ และยังส่งผลต่อรายได้ที่หายไป โดยเงินที่มีการนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ได้นำเงินจ่ายให้กับผู้พิการโดยตรง แต่กองทุนนำเงินไปพัฒนาเรื่องชีวิตคนพิการ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องดำเนินการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีหนังสือไปยัง ส.อ.ท. โดยพิจารณาว่า ข้อเสนอของ ส.อ.ท.เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ ต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ออกกฎ ที่สำคัญ ได้ส่งเรื่องนี้ให้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

“กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมิได้รับคนพิการเข้าทำงาน ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 313 บาท คูณด้วย 365 วัน และคูณจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน จะอยู่ที่ประมาณ 114,245 บาทต่อคนต่อปี แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันภาพรวมการจ้างคนพิการเข้ามาทำงานยังค่อนข้างน้อย รวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนจ้างงานคนพิการยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในที่ประชุมยังได้รายงานการจ้างงานคนพิการในปี 2563 ที่ผ่านมา นายจ้างที่ต้องจ้างคนพิการมีสถานประกอบการอยู่ที่ 14,911 แห่ง ต้องจ้างงานคนพิการอีกรวม 86,733 คน แบ่งเป็นการจ้างงานในมาตรา 33 อยู่ที่ 40,579 คน การส่งเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 รวม 13,368 คน และมาตรา 35 รวม 14,028 คน หรือรวมทั้งสิ้น 67,975 คน

ตามข้อมูลการจ้างงานคนพิการแล้วเรียบร้อยที่ 78.37% และต้องมีสถานประกอบการที่ต้องจ้างเพิ่มอีก 21.63%เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมามีการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน คิดเป็น 78% ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เช่น ในปี 2562 มีการจ้างงานคนพิการที่ 98% และในปี 2561 มีการจ้างงานคนพิการสูงถึง 101%