สธ.เตรียมฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์สัปดาห์หน้า

Photo by Oli SCARFF / AFP

กระทรวงสาธารณสุข เผยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะประชุมพิจารณาแนวทางฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 12 ก.ค. นี้ พร้อมสำรวจตัวเลขก่อนกระจายวัคซีนให้ รพ. เบื้องต้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า คาดดำเนินการได้สัปดาห์หน้า ส่วนไฟเซอร์รอก่อน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แถลงข่าว “ความคืบหน้า วัคซีน บูสเตอร์ โดส”
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเด็นการได้รับวัคซีนโควิด 2 เข็มเพียงพอหรือไม่นั้น ล่าสุดได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันศุกร์ (9 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มีข้อเสนอเห็นพ้องต้องกันว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่าภูมิจะลดลงหลังฉีดไประยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาว่าจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด

โดยการฉีดกระตุ้นจะต้องฉีดด้วยวัคซีนแตกต่างจากชนิดแรก อาจเป็นไวรัลแวกเตอร์ อย่างแอสตร้าเซนเนก้า หรือชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ที่ไทยจะได้รับบริจาคเข้ามาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งข้อเสนอจากคณะกรรมการวิชาการ จะนำสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) รายละเอียดจะเป็นไปตามคณะกรรมการวิชาการเสนอ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

บุคลากรแพทย์ติดเชื้อ 880 ราย

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ก.ค. 2564 พบการติดเชื้อ 880 ราย เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทั้งนี้ พบว่า 54% เป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาล รองลงมาเป็นวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี รองลงมา 30-39 ปี

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและประวัติการรับวัคซีน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-10 ก.ค. 2564 มีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 700,000 คน โดยตัวเลขติดเชื้อ 880 ราย พบไม่มีประวัติรับวัคซีน 173 ราย หรือคิดเป็น 19.7% ในจำนวนนี้ได้รับรายงานการเสียชีวิตตั้งแต่ต้นประมาณ 7 ราย โดยจำนวน 7 ราย นี้ มี 5 รายไม่ได้รับวัคซีน และมี 2 รายได้รับวัคซีน แบ่งเป็น 1 ราย ได้รับซิโนแวคเพียง 1 เข็ม เนื่องจากวันที่เริ่มป่วยเป็นช่วงหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 เพียงวันเดียว ปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 14 วัน และมี 1 รายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว คือ พยาบาลที่เป็นข่าวล่าสุด

“ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับพยาบาลที่เสียชีวิต เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) หลังจากติดเชื้อโควิด ซึ่งปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ถือว่าเป็นความเสียสละ ในการปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท จนติดโควิด แต่ได้อยู่ในการดูแลรักษาพยาบาลของทีมแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึงเมื่อวานนี้ จากกรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด

เพราะจากการตรวจสอบพบว่า พยาบาลท่านนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเดือน เม.ย. เป็นเข็มแรก และฉีดเข็มที่ 2 ช่วงเดือน พ.ค. แต่ด้วยการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ก็มีได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงาน ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องภาวะอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง”

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาดูอัตราการติดเชื้อผู้ได้รับวัคซีน มีโอกาสป่วยและเสียชีวิตน้อยกว่าคนไม่ได้รับวัคซีน พิจารณาจากตัวเลขผู้รับวัคซีนซิโนแวค รับ 1 เข็ม มีรายงานป่วย 68 ราย คิดเป็นอัตราป่วยประมาณ 308 ต่อแสนประชากร ส่วนคนรับครบ 2 เข็ม มีรายงานการป่วย 618 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 91 รายต่อแสนประชากร

โดยทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่อาการน้อย จะมีอาการปานกลางในคนรับวัคซีน 2 เข็มอยู่ 19 ราย ซึ่งบุคลากรเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีน จึงจะเห็นจำนวนการรับวัคซีน 2 เข็มมาก และมีการเสียชีวิต 1 ราย จากที่เป็นข่าววันนี้ ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับ 1 เข็ม และพบติดเชื้อ 45 ราย หรือคิดเป็น 67 รายต่อแสนประชาการ โดยไม่มีอาการ 43 ราย อาการปานกลาง 1 ราย อาการรุนแรง 1 ราย แต่ไม่มีรายงานเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลตรงนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น

เข็ม 3 เริ่มสัปดาห์หน้า

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า คนฉีดวัคซีนจะมีอาการน้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ จากเดิมอัลฟ่า ช่วงหลังเป็นเดลต้า ทำให้การป้องกันด้วยวัคซีนซิโนแวค อาจไม่ได้รับผลดีเท่ากับเชื้อเดิม

“ซึ่งในส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คณะกรรมการวิชาการจึงเห็นว่าต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม ตอนนี้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น คาดสามารถดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือ mRNA ต้องรออีกระยะหนึ่ง”

“ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแแปลงของโรคจากไวรัสที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นแนวทางการให้วัคซีน ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโรค เชื้อไวรัสใหม่ ๆ มักมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนก็จะปรับเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สามารถรับมือกับเชื้อโควิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ทุกคนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”

“การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ก็ต้องมีการเตรียมการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม แล้วก็เรื่องระบบส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ย้ำว่าผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มยังมีความสามารถสู้กับโรคได้ แต่เพื่อความมั่นใจทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชุมพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) ก็คาดว่าจะมีมติเห็นชอบ แล้วก็สามารถดำเนินการได้พรุ่งนี้เลย โดยวัคซีนที่จะจัดสรรเพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุข ก็อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อทราบจำนวนก็จะส่งไปให้ส่วนกลุ่มอื่น ๆ จะดำเนินการลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มดำเนินการก็จะมีการเก็บข้อมูล ด้วย เพราะประเทศอื่นที่มีการฉีดซิโนแวค ยังไม่มีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงวัคซีน mRNA ที่จะเข้ามา ดังนั้นก็ต้องมีการเก็บข้อมูลไปด้วย เช่น การเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน ทั้งก่อนและหลังได้รับการฉีดเข็ม 3 กระตุ้น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่าการฉีดได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และภูมิที่ถูกกระตุ้นขึ้นจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ครั้งนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการให้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โรคและตัวเชื้อกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา