ดัชนี SDG ไทยหล่นมาอันดับ 43 เผชิญปัญหาความเป็นอยู่และระบบนิเวศ

สถานการณ์ของประเทศไทย ที่มาภาพ: SDSN และ SDG Move

ดัชนี SDG ไทยหล่นมาอยู่อันดับ 43 ปัญหาท้าทายหนักคือ ความหิวโหย การส่งออกสารกำจัดศัตรูพืช สุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ความเหลื่อมล้ำ มลพิษในทะเล และความหลากหลายของระบบนิเวศบนบก

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในเครื่องมือติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) สำหรับแต่ละประเทศทั่วโลก คือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report : SDR) ซึ่งรวมถึงดัชนี SDG และแดชบอร์ด (SDG Index and Dashboards) ที่เป็นการจัดอันดับ (ranking) ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN member states) 193 ประเทศ

สำหรับ SDG Index and Dashboards ปี 2021 ประเทศที่ครองอันดับ 1 ดัชนี SDG ระดับโลก คือ ฟินแลนด์ อันดับ 2 คือ สวีเดน และอันดับ 3 คือ เดนมาร์ก ส่วนประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ที่อันดับ 43 ของโลก จากทั้งหมด 165 ประเทศ โดยได้คะแนนรวมของดัชนี 74.2 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่ 65.7 คะแนน อย่างไรก็ตาม อันดับและคะแนนของไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ได้อันดับ 41 และคะแนนรวม 74.5 คะแนน

ทั้งนี้ ไทยยังมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศอันดับรองลงมา คือ เวียดนาม (อันดับ 51) มาเลเซีย (อันดับ 65) สิงคโปร์ (อันดับ 76) บรูไนดารุสซาลาม (อันดับ 84) อินโดนีเซีย (อันดับ 97) เมียนมา (อันดับ 101) กัมพูชา (อันดับ 102) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 103) และลาว (อันดับ 110)

ที่มา: sdgindex.org

ความเป็นมาของรายงงาน

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน และดัชนี SDG และแดชบอร์ด จัดทำมาตั้งแต่ปี 2015 โดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ที่ระดมความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคจากทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ทีมผู้เขียนรายงานนำโดย “ศ.เจฟฟรีย์ แซคส์” ประธาน SDSN และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University

SDSN ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2012 ภายใต้การสนับสนุนของเลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบัน SDSN กำลังสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับชาติและระดับภูมิภาค เครือข่ายเชิงประเด็นที่เน้นการแก้ปัญหา และตั้ง SDG Academy ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับในประเทศไทยมีเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีนาคม 2020 โดยมี 4 องค์กรภาคีขับเคลื่อน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปัจจุบันมีสมาชิกทางการในประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 12 แห่ง

ภาพรวมความยั่งยืนระดับโลก

“เจฟฟรีย์ ดี. แซคส์” ประธาน SDSN และผู้เขียนหลัก SDR กล่าวในรายงานว่า ปีนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มี SDGs ในปี 2015 ที่การขับเคลื่อนเป้าหมายโลกถดถอย สาเหตุหนึ่งมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะไม่เพียงก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก แต่ยังสร้างวิกฤตการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

“ดังนั้น เพื่อฟื้นคืนความก้าวหน้าของ SDGs จำเป็นต้องมีการเพิ่มพื้นที่การคลังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้มากพอ ผ่านการปฏิรูปภาษีโลก และการขยายการจัดหาเงินทุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีต่าง ๆ รายจ่ายทางการคลังควรถูกใช้เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการบรรลุ SDGs ใน 6 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การศึกษาคุณภาพสำหรับทุกคน การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า พลังงานและอุตสาหกรรมสะอาด เกษตรกรรมและการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ยั่งยืน และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง”

นอกจากฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่ครองอันดับ 1 ดัชนี SDG ระดับโลกแล้ว ยังมีคะแนนสูงสุดในมิติประเทศที่มีความสุข ตามข้อมูลการสำรวจของ Gallup World Poll และรายงานความสุขโลก ประจำปี 2021 (World Happiness Report) ที่เผยแพร่เมื่อมีนาคม 2564

ทั้งนี้ในรายงานมีการระบุว่า ประเทศร่ำรวยส่งผลกระทบเชิงลบระหว่างประเทศ ทางด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยั่งยืน และให้กำไรต่างประเทศ ซึ่งลดทอนความสามารถของประเทศอื่นในการบรรลุ SDGs

สำหรับภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ คือ เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2010 และปี 2015 ขณะที่ประเทศท็อป 3 ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดตามคะแนนดัชนี SDG ตั้งแต่ปี 2015 ถึงแม้เป็นประเทศที่มีข้อมูลฐานตั้งต้น (baseline) ห่างไกลจากความยั่งยืนกว่าประเทศอื่น ได้แก่ บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ และอัฟกานิสถาน ส่วนประเทศท็อป 3 ที่ความก้าวหน้าถดถอยมากที่สุด คือ เวเนซุเอลา ตูวาลู และบราซิล

สถานการณ์ SDGs ของไทย

ที่มาภาพ: SDG Move

ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่กระตือรือร้นในการนำ SDGs ผนวกเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ดังที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 12 เป็นต้น รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีความตื่นตัว ส่งผลให้อันดับและคะแนนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

เป้าหมายที่ประเทศไทยบรรลุในปีนี้ คือ SDG 1 ยุติความยากจน โดยวัดจากจำนวนประชากรที่อยู่ในภายใต้เส้นความยากจนต่ำสุด ตามเกณฑ์ของธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60 บาท/วัน หรือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน ถือเป็นคนยากจน จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ประเทศไทยจะยังมีคนยากจนอยู่ราว 6.24% ของประชากร ในปี 2019 (ที่มา : SDG Move)

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2020 ไทยทำตามเป้าหมาย SDGs ได้แย่ลง 4 เป้าหมาย และไม่มีเป้าหมายใดที่ขยับดีขึ้น ประกอบด้วย

  • เป้าหมาย SDG 2 (ขจัดความหิวโหย) ตัวชี้วัดคือ ภาวะทุพโภชนาการ และอัตราการส่งออกยาฆ่าแมลง (ตัวชี้วัดใหม่)
  • เป้าหมาย SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ตัวชี้วัดคือ อัตราการเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน และการรับประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน
  • เป้าหมาย SDG 14 (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเล) ตัวชี้วัดคือ ร้อยละของพื้นที่โดยเฉลี่ยทางทะเลที่ได้รับการปกป้อง ที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และดัชนีสุขภาพมหาสมุทรด้านคะแนนน้ำสะอาด
  • เป้าหมาย SDG 15 (การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก) ตัวชี้วัดคือ ขนาดพื้นที่บนบกเฉลี่ยที่ได้รับการปกป้อง ที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่ชุ่มน้ำ

ส่วนเป้าหมายที่มีความท้าทายสูงที่เพิ่มขึ้นจากปี 2020 คือ SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 10 การลดความเหลื่อมล้ำ