คอร์สแอร์ กรุ๊ป เปลี่ยนขยะไร้ค่าเป็นทองจากน้ำมัน

คอร์สแอร์

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน แม้ทั่วโลกจะพยายามหาทางออกด้วยการลด ละ เลิกใช้ แต่สถานการณ์โควิด-19 กลับทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะประเทศไทย ข้อมูลล่าสุด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรายงานว่า เพียงแค่กรุงเทพมหานครแห่งเดียวมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 60% จากการเติบโตของดีลิเวอรี่ และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับป้องกันโรค

คอร์สแอร์ กรุ๊ป (Corsair Group) บริษัทผู้พัฒนาโซลูชั่นธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีฐานการดำเนินงานทั้งในประเทศไทย และเนเธอร์แลนด์ ระบุว่ามลพิษจากขยะพลาสติกทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งมาพร้อมอุปสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่อหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ปกป้องสุขภาพส่วนบุคคล จึงส่งผลถึงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

โดยอัตราการผลิตพลาสติกรายปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายงานการผลิตทั่วโลกมากกว่า 370 ล้านเมตริกตันต่อปี ดังนั้น หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปภายในปี ค.ศ. 2050 ขยะพลาสติกกว่า 12 พันล้านตัน จะทับถมอยู่ในหลุมขยะฝังกลบ และปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ

“ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกเริ่มต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายว่า ในธุรกิจที่ผลิตพลาสติกจะต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลมาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตอย่างน้อย 30% สำหรับการผลิตทั้งหมด

ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา
ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล

“ถ้าบริษัทเหล่านั้นไม่ใช้กฎหมายดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับเป็นภาษีให้กับสหภาพยุโรป เพราะรัฐบาลพยายามที่จะทำให้ทุกบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากขึ้น คาดว่ากฎหมายนี้จะเกิดขึ้นในทั่วทุก ๆ ประเทศบนโลก และหวังว่าจะเกิดขึ้นในประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ในเร็ว ๆ นี้”

“โดยเฉพาะประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีขยะเล็ดลอดลงสู่แม่น้ำ และท้องทะเลมากที่สุด แต่ละปีมีการสร้างขยะพลาสติกกว่า 2,000 ล้านกิโลกรัม แต่นำไปรีไซเคิลเพียง 10% ทั้งยังมีบ่อฝังกลบขยะมากกว่า 2,000 บ่อ ซึ่งมีพลาสติกที่ถูกสะสมมานานหลายปี”

“ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คอร์สแอร์ กรุ๊ป ประกาศนโยบายเดินหน้าแก้ไขปัญหาพลาสติกด้วยการนำเทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Technology) มาใช้ในกระบวนการแปรสภาพพลาสติกให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์บนแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

คอร์สแอร์

“ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา” อธิบายต่อว่า คอร์สแอร์ กรุ๊ป เข้ามาดำเนินกิจการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย เมื่อไตรมาส 3 หรือช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยมีโรงงานตั้งอยู่กรุงเทพฯ เนื้อที่ประมาณ 6,400 ตารางเมตร เป้าหมายธุรกิจเราคือการเปลี่ยนขยะพลาสติกมาย่อยสลายแปรสภาพให้เป็นน้ำมัน โดยมีเทคโนโลยีไพโรไลซิสมาใช้ในกระบวนการ ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 200,000 ลิตรต่อเดือน

“กระบวนการของเทคโนโลยีตัวนี้คือการลำเลียงขยะพลาสติกลงในเครื่องไพโรไลซิส (Pyrolysis Machine) ที่สามารถรองรับพลาสติกได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก พลาสติกห่อหุ้มและบรรจุภัณฑ์พลาสติก หลังจากนั้นเครื่องจักรจะให้ความร้อนแก่ขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดควันและก๊าซ โดยขั้นตอนนี้ไม่ใช่การเผา แต่เป็นการใช้ความร้อนเพื่อย่อยสลาย ทำให้ไม่เกิดไอพิษลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซไวไฟที่ได้ในขั้นตอนนี้จะถูกรวบรวม และนำไปใช้เพื่อสร้างความร้อนในขั้นตอนที่แปรสภาพขยะพลาสติกต่อไป”

“ส่วนควันที่เกิดขึ้นจะลอยผ่านระบบกลั่น และเปลี่ยนเป็นของเหลว และพลาสติกจะเกิดการแปรสภาพเป็นน้ำมันกำมะถันต่ำ หรือน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-Oil/ Advanced Biofuel) มีคุณสมบัติเทียบเคียงกับน้ำมันดิบที่อยู่ใต้โลก สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และนํ้ามันอากาศยานได้ และสำคัญที่สุด คือ น้ำมันชีวภาพขั้นสูง สามารถใช้เพื่อการผลิตพลาสติกใหม่ได้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักในการลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะถูกนำไปฝังกลบและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา” กล่าวต่อว่า ยิ่งไปกว่านั้น น้ำมันชีวภาพขั้นสูงบางส่วนที่ผลิตได้ ยังหมุนเวียนนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องนวัตกรรมไพโรไลซิสอีกครั้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากภายนอก โดยในอนาคตคอร์สแอร์จะมีการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนของเครื่องจักรเหล่านี้ในตัวเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศพลังงานที่เพียงพอสำหรับป้อนภายในโรงงาน

“จึงคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องนำน้ำมันใหม่มาจากใต้พื้นโลก แต่เป็นการลดการใช้ปริมาณน้ำมัน จนนำไปสู่การลดปริมาณมลพิษ และคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย”

กล่าวกันว่า ภายหลังจากที่คอร์สแอร์ กรุ๊ป เข้ามาดำเนินกิจการ ขณะนี้มีความร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชื่อดังของไทยหลายแห่ง อาทิ ไมเนอร์ กรุ๊ป, เซ็นทารา กรุ๊ป, ชาเทรียม โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน), แดรี่โฮม และอีกหลายแห่งในการคัดแยกขยะ หรือเป็นตัวกลางในการคัดแยก

โดยทางคอร์สแอร์จะเป็นผู้ไปนำเก็บ และออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อนำมารีไซเคิล และตอนนี้ยังเปิดรับบริษัทต่าง ๆ ที่ยังอยากเข้าร่วมโครงการต่อไป

“เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถขจัดขยะพลาสติกได้ 50-90% ของขยะพลาสติกในประเทศ หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนกิโลกรัมต่อเดือน และจะเปลี่ยนเป็นน้ำมันได้ 2 แสนลิตร ขึ้นอยู่กับความสะอาดของพลาสติกด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพลาสติกที่สกปรก 100 กิโลกรัม จะสามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำมันได้ที่ 50-75 ลิตร แต่หากพลาสติกที่มาจากบ้านเรือนและมีความสะอาดสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันได้ 90%”

“ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแปลงเป็นน้ำมันแล้ว คอร์สแอร์จะร่วมกับโรงกลั่นขนาดเล็กนำน้ำมันไปเป็นส่วนผสมกับน้ำมันดิบเพื่อกลั่นออกมาเป็นเบนซิน หรือดีเซล ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และมีเป้าหมายจะส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจที่ผลิตพลาสติกใหม่ ซึ่งปัจจุบันคอร์สแอร์กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับหลายบริษัททั่วโลกทั้งในเอเชีย และยุโรป เพื่อดำเนินการทั้ง 2 ด้าน”

“ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา” กล่าวถึง เป้าหมายด้วยว่า จะลงทุนขยายพื้นที่โรงงานอีก 10,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้ได้มากกว่า 1,000,000 ลิตรต่อเดือนในปี 2565 และสำหรับเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเดินหน้าขจัดขยะพลาสติกออกไปจากสิ่งแวดล้อมให้ได้ 2 พันล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นน้ำมันที่จะผลิตได้ราว 1 พันล้านลิตร

“โดยมาจากแหล่งขยะทั้งการแยกขยะพลาสติกจากต้นทาง เก็บขยะพลาสติกจากขยะครัวเรือน และขยะพลาสติกจากบ่อขยะ แม่น้ำและทะเล ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องยืนหยัด และร่วมแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก เพราะเราทุกคนสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ด้วยสองมือของเรา รวมถึงการใช้นวัตกรรมที่เรามีอยู่”

“ด้วยเหตุนี้ คอร์สแอร์จึงต้องเดินหน้าสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ทั้งพันธมิตรทางการเงิน และหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ภารกิจในการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างเมืองให้น่าอยู่ เพื่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้”

อย่างไรก็ตาม McKinsey and Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกเคยคาดการณ์ว่า ธุรกิจลักษณะนี้จะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ถึง 75 พันล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งคอร์สแอร์ก็จะมุ่งสู่เป้าหมายนี้ในอนาคต