ปรับตัวสู่โลกออนไลน์ สมศ.ส่องมหา’ลัยเรียนรู้รับโลกเปลี่ยน

การเรียนออนไลน์

ตลอดช่วง 2 ปีผ่านมา ทั่วโลกต่างพูดถึงเรื่อง “การปรับตัว” ค่อนข้างมาก ทั้งยังผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญของทุกภาคส่วน ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่มีการปรับตัวอย่างเข้มข้น คือ “สถาบันอุดมศึกษา”

หลายมหาวิทยาลัยมีการยกระดับทั้งในเรื่องคุณภาพ การผลิตหลักสูตรเพื่อป้อนคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนให้เข้าไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น

จนทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างส่งสัญญาณความห่วงใยถึงทิศทางการปรับตัวของสถาบันการอุดมศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับตัวของนักศึกษาต่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ

“ผศ.ดร.ศศิธร วชิรปัญญาพงศ์” รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพองค์การ และกิจกรรมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในยุคดิจิทัลมาตลอดเวลา แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดทำให้มหาวิทยาลัยมีความตื่นตัว และต้องปรับตัว รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เร็วยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ศศิธร วชิรปัญญาพงศ์
ผศ.ดร.ศศิธร วชิรปัญญาพงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพองค์การ และกิจกรรมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี

“ช่วงแรก ๆ ของการเรียนออนไลน์ยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก เพราะทั้งอาจารย์ผู้สอน-นักศึกษาต้องปรับตัวกันแบบกะทันหัน โดยสิ่งแรกที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีดำเนินการคือ การปลดล็อกระเบียบ วิธีการเรียนการสอน รวมไปถึงแนวทางการอนุมัติเกรดของนักศึกษา เพื่อให้สอดรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพราะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีข้อกฎหมายกำกับอยู่”

“ดังนั้นต้องเริ่มปรับตั้งแต่ต้นทางก่อนเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ และเพื่อป้องกันปัญหาหลังจากที่เด็กเรียนจบออกไปแล้ว สิ่งต่อมาที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งทำคือ วางระบบการสอน โดยใช้ศูนย์นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการอบรมอาจารย์ประจำรายวิชาให้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้โปรแกรมไลฟ์สดต่าง ๆ ช่วงแรกมหาวิทยาลัยมีการสอนออนไลน์ผ่านทางเฟซบุกไลฟ์ ไลน์วิดีโอคอล เพราะแต่ละคณะ สาขาวิชา และแต่ละชั้นปี อาจารย์จะมีไลน์กลุ่มของนักศึกษาอยู่”

“แต่ปัญหาที่พบคือนักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกคน บางคนสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ แต่เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าถึงการเรียนอย่างทั่วถึง และเป็นไปตามมาตรฐาน ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการซื้อตัวเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ พร้อมจับคู่นักศึกษาที่อยู่บ้านใกล้กันให้มาเรียนด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างที่ต้องเรียนออนไลน์”

“ผศ.ดร.ศศิธร” กล่าวต่อว่า ในส่วนของการติดตามและประเมินผลถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้เราทราบว่าการเรียนออนไลน์มีข้อดี หรือมีจุดใดที่ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้เท่ากับการมาเรียนในห้องเรียน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยใช้ศูนย์นวัตกรรมสำหรับติดตาม และประเมินผลการเรียนผ่านการทำแบบสอบถาม

“การประเมินครูผู้สอน และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาระบบต่าง ๆ และแผนการสอน โดยเฉพาะในรายวิชาที่ต้องเน้นการปฏิบัติ เพราะวิชาเหล่านี้ไม่สามารถสอนผ่านออนไลน์ได้ จึงต้องปรับแผนให้นักศึกษาสลับกันเข้ามาเรียนในห้องแล็บ ส่วนนักศึกษาที่ไม่ได้เข้ามาเรียนในห้องแล็บก็ให้ดูเพื่อน ๆ ผ่านออนไลน์ โดยการจัดการในรูปแบบดังกล่าวช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และสามารถเรียนไปพร้อม ๆ กันได้”

“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องปรับให้เข้าสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเราไม่สามารถหยุดการสอนได้ตลอดทั้งเทอม และการเรียนของนักศึกษาไม่สามารถรอให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสภาวะปกติได้ อีกทั้งตนยังเชื่อว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมความพร้อมเสมอ”

“อีกประเด็นคือการมีส่วนช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ ระบบการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินทั้งภายในและภายนอก เพราะการประเมินจะทำให้มหาวิทยาลัยรู้ถึงจุดดี จุดเด่น และจุดที่ต้องปรับปรุง ในระหว่างที่มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือแม้แต่ช่วงที่สถานการณ์ปกติ เพื่อให้คุณภาพในด้านต่าง ๆ ดียิ่งขึ้น”

“ดร.นันทา หงวนตัด” รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวเสริมว่า สมศ.ในฐานะหน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษา มีความพร้อมที่จะส่งเสริมการเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.นันทา หงวนตัด
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)

“เพราะมหาวิทยาลัยของบ้านเรามีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน และมีโดดเด่นในด้านที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเข้าไปประเมินคุณภาพภายนอกในระดับอุดมศึกษาในครั้งนี้ สมศ.ยังคงดำเนินการภายใต้การประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น”

“เนื่องจากการประเมินคุณภาพและการประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน องค์กรต่าง ๆ การปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนในสถาบันเป็นไปอย่างเต็มที่ และเต็มความสามารถเพื่อให้บัณฑิตที่จบออกมามีคุณภาพ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่สาธารณชนว่ามหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา ได้ผลิตบัณฑิต หรือผลงานวิจัย ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพ”

ถึงตรงนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเริ่มจัดการสอนออนไลน์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสองจนถึงขณะนี้ ตนและเพื่อน ๆ ในคณะเรียนผ่านออนไลน์มานานกว่า 1 เทอมแล้ว

“สำหรับปัญหาที่พบในระยะแรกคือความไม่แน่นอนของคลาสเรียนในบางรายวิชา และเนื้อหาที่ยังไม่เหมาะกับการเรียนผ่านออนไลน์ แต่ช่วงหลังการเรียนผ่านออนไลน์เริ่มมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อาจารย์ประจำรายวิชาเริ่มปรับรูปแบบให้เหมาะสมทั้งเรื่องของรายละเอียด เนื้อหา และระยะเวลาในการสอน ซึ่งคาดว่าทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการติดตามประเมินการทำงาน และประสิทธิภาพการเรียนการสอนของอาจารย์ และนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขณะนี้ห้องเรียนออนไลน์ของวิชาเอก และวิชาเลือก พวกเรามีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

“ในฐานะที่ตนเป็นนักศึกษา จึงเห็นว่าการประเมิน และติดตามผลการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้การทำงานของอาจารย์ และการเรียนของนักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะระหว่างการประเมินจะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นจุดบกพร่องที่ต้องพัฒนา และแก้ปัญหาให้ตรงจุด หากประเมินแล้วพบจุดเด่นก็จะได้ส่งเสริมให้ดีมากกว่าเดิม ดังนั้น สำหรับตนแล้วไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายในของมหาวิทยาลัย หรือการรับการประเมินภายนอกจากหน่วยงานอื่นย่อมเป็นผลดีทั้งต่อตัวนักศึกษา และมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สมศ.มีการกำหนดรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับอุดมศึกษาไว้เป็นที่เรียบร้อย หากสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก สามารถส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) และตารางข้อมูลเบื้องต้น (CDS) ย้อนหลัง 3 ปี มายัง สมศ.ได้จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2564 เพื่อที่ สมศ.จะได้เตรียมการประเมินในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป

ส่วนด้านแนวทางการประเมินภายนอกในระดับอุดมศึกษานั้น ได้กำหนดไว้ 2 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 เป็นการประเมินแบบวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (preanalysis)

ขั้นตอนที่ 2 เป็นการประเมินแบบลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (site-visit) ในรูปแบบออนไลน์ ร่วมกับการลงพื้นที่จริงไม่เกิน 1-3 วัน โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้ารับการประเมินทั้ง 2 ขั้นตอนจึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.ต่อไป

นับเป็นการปรับตัวที่ไม่ธรรมดาเลย