เช็กที่นี่! อัพเดตล่าสุด กำหนดวันโอนเงินเยียวยา มาตรา 33, 39 และ 40

ประกันสังคม-เงินเยียวยา

อัพเดตกำหนดการล่าสุด ประกันสังคมจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 และวันจ่ายเงินสมทบงวดแรกของแรงงานอิสระที่สมัครเพิ่มทั้ง 29 จังหวัด

วันที่ 12 สิงหาคม 2564 สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สีแดงเข้ม ด้วยการจ่ายเงินโครงการเยียวยาให้คนไทยกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ได้แก่

1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

ครม.มีการเคาะมาตรการเยียวยาเป็นรอบ ๆ ถึงตอนนี้มี 3 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งหมด 29 จังหวัด ดังนี้

  • มติวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มี 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
  • มติวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีเพิ่มอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา
  • มติวันที่ 3 สิงหาคม 2564 มีเพิ่มอีก 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

อัตราการจ่ายเงินเยียวยาแบ่งเป็น 3 มาตรา ดังนี้

1) กลุ่มผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 33 แบ่งออกเป็นการเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง

ลูกจ้างมาตรา 33 เป็นพนักงานบริษัททั่วไป ได้เงินช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

เงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม โดยลูกจ้างทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติในมาตรา 33 จะได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท กรณีนายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งส่วนนี้ลูกจ้างไม่ต้องดำเนินการแจ้งประกันสังคมเอง เพราะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องทำเรื่องส่งแบบฟอร์มให้ โดยเงินทดแทนจากการขาดรายได้จะถูกโอนให้ผ่านบัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง

เงินโครงการเยียวยาจากเงินกู้ของรัฐบาล จ่ายสมทบให้ลูกจ้างมาตรา 33 สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน

ส่วนนายจ้างได้รับเงินจำนวน 3,000 บาทต่อลูก 1 คน สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน (จำนวนเงินสูงสุดที่นายจ้างได้รับจะอยู่ที่ 600,000 บาท)

2) กลุ่มผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 39

ผู้ประกันตนมาตรา 39 เป็นผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ที่สมัครใจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อ เดือนละ 432 บาท จะได้รับเงินโครงการเยียวยา 5,000 บาท

3) กลุ่มผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 40

ผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) จะได้รับเงินโครงการเยียวยา 5,000 บาท

ทั้งนี้ อัตราการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เข้ากองทุนประกันสังคมมี 3 ราคา โดยอัตราการจ่ายเงินในงวดเดือนสิงหาคม 2564 – มกราคม 2565 (ระยะเวลา 6 เดือน) ได้มีการประกาศลด ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ดังนี้

ราคาเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 42 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

ราคาเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 60 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ

ราคาเดิมจ่ายในอัตรา 300 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 180 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

อัพเดตวันโอนเงินทุกมาตรา

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาจะเป็นรอบ ๆ โดยลูกจ้างจะรับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะได้รับผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้างที่แจ้งไว้

  • ลูกจ้างมาตรา 33 ในกลุ่ม 10 จังหวัด ทำการโอนติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-6 สิงหาคม โอนไปแล้ว 2.4 ล้านคน
  • ลูกจ้างมาตรา 33 ในกลุ่มเพิ่มมา 3 จังหวัด ทำการโอนวันที่ 9 สิงหาคม โอนไปแล้ว 1.9 แสนคน
  • ลูกจ้างมาตรา 33 ในกลุ่มเพิ่มมา 16 จังหวัด จะทำการโอนวันที่ 24 สิงหาคม มีลูกจ้างประมาณ 403,000 คน และนายจ้าง 30,000 รายที่มีสิทธิ
  • นายจ้างมาตรา 33 ในกลุ่ม 10 จังหวัด เริ่มทำการโอนวันที่ 10 สิงหาคม
  • กลุ่มตกหล่น มาตรา 33 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และกลุ่มเพิ่มมา 3 จังหวัด จะโอนให้ทุกวันศุกร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคมเป็นต้นไป จนกว่าจะครบ
  • แรงงานอิสระมาตรา 39 และ 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และกลุ่มเพิ่มมา 3 จังหวัด จะทำการโอนวันที่ 24 สิงหาคม
  • แรงงานอิสระมาตรา 40 ในกลุ่มเพิ่มมา 3 จังหวัด และ 16 จังหวัด ให้โอกาสสมัครเป็นผู้ประกันตนเพิ่ม และต้องจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 24 สิงหาคม
  • กลุ่มทบทวนสิทธิ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง 9 กิจการ ในพื้นที่สีแดงเข้ม หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะนำเข้าระบบประกันสังคม และทยอยโอนเงินให้ทุกวันศุกร์
  • กลุ่ม 10 จังหวัด และกลุ่มเพิ่มมา 3 จังหวัด ทุกมาตรา รับเยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือน จะนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณา

อัพเดทล่าสุด!

นางสาวลัดดาอธิบายว่า กลุ่มที่ตกหล่นหมายถึง กลุ่มที่ทางประกันสังคมพยายามโอนเงินให้แต่ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุผลดังนี้ ผู้ประกันตนยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน บัญชีธนาคารปิด ผูกพร้อมเพย์กับเบอร์โทรศัพท์ และสาเหตุอื่น ๆ

“เราจะตรวจสอบสาเหตุกลุ่มผู้ตกหล่น และจะติดต่อนายจ้างให้แจ้งผู้ประกันตนว่าให้รีบดำเนินการแก้ไขตามสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งต่อไปจะทยอยโอนให้ทุกวันศุกร์ และโอนไปเรื่อย ๆ จนครบจำนวนที่ตกหล่น”

ส่วนกลุ่มทบทวนสิทธิใน 9 กิจการ ในพื้นที่สีแดงเข้ม คือผู้ที่ตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยาในเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news แล้วปรากฏว่าไม่มีสิทธิ อาจด้วยสาเหตุบางประการ เช่น ระบุประเภทสถานประกอบการไม่ถูกต้อง นายจ้างแจ้งชื่อลูกจ้างตกหล่น ชื่อบัตรประชาชนไม่ตรง มีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เป็นต้น

ให้กลุ่มทบทวนสิทธิติดต่อสำนักประกันสังคมทางช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ โทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง, e-Service ของประกันสังคม (www.sso.go.th/eservices), ทางระบบข้อความของเพจเฟซบุ๊กสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน www.facebook.com/ssofanpage หรือโทร.ไปที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่


“สำหรับแรงงานอิสระมาตรา 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัดที่ให้สมัครเพิ่ม เรากำหนดจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคมเท่านั้น หากจ่ายเงินไม่ทันเท่ากับไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา เพราะยังไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมบูรณ์” นางสาวลัดดากล่าว