มาตรา 39 โอนเยียวยา 23 ส.ค.นี้ ต่อด้วยมาตรา 40 วันที่ 24-26 ส.ค.

โอนเงินเยียวยา

ประกันสังคมเตรียมโอนเงินเยียวยา มาตรา 39 กลุ่ม 13 จังหวัด วันที่ 23 สิงหาคมนี้ ต่อด้วยมาตรา 40 โอนติดต่อ 3 วัน 24-26 สิงหาคม

วันที่ 14 สิงหาคม 2564 จากที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 สิงหาคม เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเสนอกรอบวงเงินการช่วยเหลือแรงงานอิสระ ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมการระบาดสูงสุด (สีแดงเข้ม) ซึ่งมีประมาณ 6,694,201 คน โดยเคาะกรอบวงเงิน 33,471 ล้านบาท แบ่งเป็นสำหรับมาตรา 39 วงเงิน 7,180 ล้านบาท และมาตรา 40 วงเงิน 26,200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนคนละ 5,000 บาท ด้วยการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น

การเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 จะจ่ายเป็นรอบ ๆ ตามที่ ครม.เคาะมาตรการเยียวยาพื้นสีแดงเข้ม ดังนี้

กลุ่ม 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (มติ ครม.วันที่ 13 กรกฎาคม 2564)

กลุ่ม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา (มติ ครม.วันที่ 20 กรกฎาคม 2564)

และกลุ่ม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง (มติ ครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2564)

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า มาตรา 39 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด จะโอนเงินเยียวยาให้วันที่ 23 สิงหาคมนี้ ส่วนมาตรา 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด ที่มีประมาณ 4 ล้านคน จะโอนเงินเยียวยาให้วันที่ 24-26 สิงหาคม ติดต่อกัน 3 วัน โดยเราขยายการโอนเงินจากวันละ 1 ล้านคน เป็น 1.5 ล้านคนแล้ว

“ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 3 จังหวัด และ 16 จังหวัด สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มได้ และจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เพื่อมีสิทธิรับเงินเยียวยา และขอให้ผู้ประกันตนผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนไว้ล่วงหน้า”

ข้อกำหนดผู้ประกันตน ม. 39

ประกันสังคมมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน และมีประกันสังคมมาตรา 33 มาก่อน แล้วลาออกจากงาน หรือออกจากมาตรา 33 จากนั้นสมัครใจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อ เพื่อรับสิทธิทดแทนและคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดว่าต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน, ออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน และไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

นางสาวลัดดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 มีลดให้ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมเป็นเดือนสุดท้าย เหลือ 216 บาทต่อเดือน

“การที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จะต้องมีสถานะ active ส่วนการหลุดออกจากมาตรา 39 เกิดเมื่อท่านขาดการส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบแบบฟันหลอ คือไม่จ่ายเงินสมทบ 9 เดือนติดต่อกัน และเมื่อหลุดออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้วจะสมัครมาตรานี้อีกไม่ได้ แต่ยังสามารถไปสมัครมาตรา 40 ได้”

สำหรับมาตรา 40 จะหลุดออกจากการเป็นผู้ประกันตนต่อเมื่อท่านทำเรื่องลาออก และกรณีขาดส่งเงินสมทบ จะไม่หลุดออกจากความเป็นผู้ประกันตน โดยให้นำส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนปัจจุบันเป็นต้นไป (ไม่สามารถชำระเงินสมทบย้อนหลังได้) และการที่จะนับว่าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จังหวัดไหน ดูจากจังหวัดที่ท่านสมัครและจ่ายเงินสมทบ

เงื่อนไขการสมัคร ม. 40 เพิ่ม

ตอนนี้ทางประกันสังคมเปิดโอกาสให้แรงงานอิสระ ในกลุ่ม 3 จังหวัด และ 16 จังหวัด สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มได้ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เพื่อมีสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

การสมัครมาตรา 40 ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ สัญชาติไทย อายุ 15 – 65 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นลูกจ้างบริษัท หรือมีนายจ้าง ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 รวมถึงไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ส่วนอัตราการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เข้ากองทุนประกันสังคมมี 3 ราคา โดยอัตราการจ่ายเงินในงวดเดือนสิงหาคม 2564 – มกราคม 2565 (ระยะเวลา 6 เดือน) ได้มีการประกาศลด ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ดังนี้

ราคาเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 42 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

ราคาเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 60 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ

อัตราเดิมจ่ายสมทบ 300 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 180 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

ช่องทางการสมัครเป็นผู้กันตนตามมาตรา 40 ดังนี้

  • เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
  • เซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา
  • Big C ซูเปอร์เซ็นเตอร์
  • เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ
  • สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
  • สายด่วนประกันสังคม หมายเลข 1506

ช่องทางชำระเงิน ฟรีค่าธรรมเนียมทุกช่องทาง ดังนี้

  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น-อีเลฟเว่น)
  • เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส
  • เคาน์เตอร์บิ๊กซี
  • ผ่าน Mobile Application ShoppyPay
  • ตู้บุญเติม
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน มาครา 33, 39 และ 40 ในพื้นที่ควบคุมการระบาดสูงสุด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด สามารถตรวจสอบสิทธิเยียวยาได้แล้ววันนี้ ทางเวปไซต์สำนักงานประกันสังคมที่ www.sso.go.th/eform_news