กฟผ. พัฒนาหมวกป้องกันเชื้อ PAPR มอบแพทย์ช่วยผู้ป่วยโควิดห้อง ICU

รวย.มอบหมวก PAPR พร้อมชุดกรอง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สู้ภัย COVID-19

“เครือมติชน” เผยนวัตกรรมด้านสุขภาพ กฟผ. สร้างหมวกป้องกันเชื้อ PAPR สำหรับแพทย์ด่านหน้า ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ICU มีน้ำหนักเบา เพิ่มพัดลมเย็น

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 เครือมติชนจัดงานมหกรรมสุขภาพออนไลน์ “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน บนแพลตฟอร์มสื่อในเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชนทีวี โดยงานวันนี้เป็นวันที่ 2 และสำหรับหัวข้อวันนี้เกี่ยวกับ “5 CSR-นวัตกรรม ปลุกความหวัง เปิดทางรอดยุคโควิด” เผยนวัตกรรมด้านสุขภาพ (health innovation) จากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ

โดยหนึ่งใน 5 นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคือ นวัตกรรมช่วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับภาระอันหนักหน่วง เพื่อช่วยเหลือเคสผู้ป่วยหนักในห้อง ICU ได้แก่ หมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT

นวัตกรรมดังกล่าวเกิดจากภาวะการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงาน ทำให้กลายเป็นโจทย์หนึ่งที่บุคลากรช่างและวิศวกรของ กฟผ. พยายามคิดค้นพัฒนานวัตกรรมป้องกันเชื้อสำหรับใช้สู้รบกับโรคระบาดนี้

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมมาจากปัญหา

ย้อนไปในปี 2563 ระหว่างที่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.จำนวนหนึ่งเร่งผลิตตู้ตรวจโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.อีกจำนวนหนึ่งที่พยายามผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ขึ้นมา ซึ่งในเวลานั้นการระบาดระลอกแรกได้ทุเลาลงแล้ว อีกทั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถจัดซื้อชุดป้องกันเชื้อ PPE ที่มีเพียงพอในท้องตลาดได้ หมวกป้องกันเชื้อ PAPR ของ กฟผ. ที่คิดค้นขึ้น จึงยังไม่ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานเท่าใดนัก

ภาพ: กฟผ.

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2563 เกิดการระบาดระลอกที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศต้องกลับมาทำงานกันอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง และต้องทำงานภายใต้ชุด PPE ที่ปกคลุมร่างกายมิดชิด อากาศไม่ถ่ายเทจนเกิดความร้อนสะสม ทำให้อึดอัด ไม่คล่องตัวระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อต้องสวมใส่เป็นเวลานานก็เกิดความเหนื่อยล้าและหายใจไม่ออก จึงมักได้ยินข่าวว่าแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ เป็นลมหมดสติคาชุด PPE ที่สวมใส่หลายต่อหลายครั้ง

กฟผ.จึงได้ทำการต่อยอดหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ที่มีอยู่เดิม โดยปรับปรุงการใช้งานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การดูแลมาตรฐานจากทีมแพทย์ กฟผ. และ นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้นำไปทดลองใช้งานจริงและได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้ กฟผ.นำไปปรับปรุงและพัฒนาจนมีความเหมาะสมต่อการใช้งาน ได้เป็นต้นแบบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR รุ่นล่าสุด และได้มีการวางแผนผลิตเพื่อมุ่งให้การสนับสนุนแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ

หมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator)

คุณสมบัติช่วยแพทย์ต่อสู้การทำงาน

ล่าสุด หมวกป้องกันเชื้อ PAPR ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น โดย ทพ.อาทิตย์ อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) ซึ่งหากซื้อหมวกชนิดนี้จากต่างประเทศจะมีราคาสูง และค่อนข้างหาซื้อยาก

หมวกป้องกันเชื้อ PAPR เวอร์ชันใหม่มีคุณสมบัติดังนี้

  • เป็นหมวกความดันบวก ช่วยให้อากาศภายในไหลเวียนดี
  • มีระบบกรองอากาศดักจับเชื้อโรคภายนอก
  • มีน้ำหนักเบา หน้าจอกว้าง ช่วยเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
  • เพิ่มลมเย็นด้วยพัดลมมอเตอร์ซึ่งทำงานเสียงเบาเป็นพิเศษ ไม่รบกวนการสื่อสารระหว่างทีมแพทย์
  • มีแบตเตอรี่ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง

ระดมทุนช่วยเหลือสังคมด้วยกัน

การผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ในระยะแรกเริ่ม ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.ระดมทุนกันเองเพื่อการผลิต ต่อมามองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งคน กฟผ. และประชาชนทั่วไปจะได้ร่วมกันช่วยเหลือสังคม จึงเป็นจุดเริ่มการระดมทุน โดยร่วมกับมูลนิธิเขื่อนยันฮี ในลักษณะ Donation Based Crowdfunding เฉพาะกิจ ทำการระดมทุนจากผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และประชาชนทั่วไป ผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนที่โปร่งใสและประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศไทย โดยผู้ให้ทุนสามารถติดตามผลการดำเนินโครงการที่ให้การสนับสนุนทุนได้ รวมถึงสามารถติดต่อกับเจ้าของโครงการได้โดยตรงและสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

จากเดิมที่มีเป้าหมาย 550,000 บาท สำหรับการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR 100 ชุด ซึ่งเริ่มระดมทุนรับบริจาคเงินตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 พบว่าได้รับเงินบริจาคครบเต็มจำนวนอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 18 ชั่วโมง 39 นาที ต่อมาจึงได้ขยายการรับบริจาคเพิ่มเป็น 1,100,000 บาท เพื่อผลิตหมวก PAPR 200 ชุด ซึ่งในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 มียอดบริจาคเกินเป้าหมายเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,109,300 บาท จึงได้ปิดรับบริจาค

ปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วเกือบ 150 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 450 ชุด โดยแบ่งเป็นหมวก PAPR ที่ผลิตจากการระดมทุน 200 ชุด ส่วนอีกกว่า 250 ชุด เป็นหมวก PAPR ที่ผลิตจากงบประมาณ CSR ของ กฟผ. นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดหาทุนเพิ่มสำหรับการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ให้ได้อีก 500 ชุดด้วย

รวย.มอบหมวก PAPR พร้อมชุดกรอง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สู้ภัย COVID-19

กฟผ.ได้กำหนดจำนวนการส่งมอบไว้ที่ 4 ชุดต่อโรงพยาบาล เพื่อให้มีการกระจายไปอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด โดยจะเน้นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม) ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ก่อน แต่หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก จะพิจารณาจำนวนส่งมอบมากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม จะพิจารณาส่งมอบในลำดับถัดไป

สำหรับอีก 4 นวัตกรรมด้านสุขภาพ (health innovation) จากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ในงาน Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย ได้แก่