ลดเงินสมทบประกันสังคมทุกมาตรา 3 เดือน ม.33 จ่าย 1%

ชดเชย ประกันสังคม

ลดเงินสมทบ 3 มาตรา ต่ออีก 3 เดือน กระทรวงแรงงานยืนยัน ไม่กระทบเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน–รัสเซีย โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและกล่าวรายงาน

ตามที่รัฐบาลภายใต้การดำเนินงาน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออก 10 มาตรการ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนรวมถึงผู้ใช้แรงงาน หนึ่งในนั้นคือการลดเงินสมทบประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกอบการ และพี่น้องผู้ประกันตน ทั้ง 3 มาตรา (มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40)

ลดส่งสมทบ 3 มาตรา ช่วย 24.2 ล้านคน

นายสุชาติกล่าวว่า การลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้าง และแรงงานผู้ประกันตนมีข้อมูลดังนี้

1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1

ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9

จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ

  • ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
  • ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท
  • ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท

เท่ากับว่าช่วยลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84-360 บาทต่อคนต่อเดือน

4. นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต

ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท

นายสุชาติอธิบายว่า มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท

นอกจากนั้นที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง

รวมทั้งรัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่ง

อีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือ โครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี’64 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท

และด้วยความห่วงใยจากท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้กรุณาอนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง Hospitel เพื่อรองรับการรักษาแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน

“มาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดขึ้นมานั้น เป็นมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นห้วงวิกฤตซ้อนวิกฤตก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุชาติกล่าว

ไม่กระทบเสถียรภาพกองทุน สปส.

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และบริการของทั้งในและต่างประเทศ

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงร่วมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนในยามเดือดร้อนในสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้เพิ่มกระแสเงินสดให้ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องมากขึ้น

อีกทั้งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้าง เพิ่มศักยภาพในการรักษาการจ้างงานส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

“เงินสมทบที่ลดลงมากกว่า 30,000 ล้านบาท จะกลายเป็นเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไป”

ปลัดกระทรวงแรงงานอธิบายถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการลดเงินสมทบ จะมีผลกระทบเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวหรือไม่ว่า กองทุนประกันสังคมมีเงินสำรองสามารถนำมาบริหารสภาพคล่องได้ในระยะยาว และที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาการลงทุน โดยนักลงทุนมืออาชีพอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่พี่น้องผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินกองทุนร่วมกัน และได้มีการเปิดเผยข้อมูลผลตอบแทนของกองทุน ให้ทราบทั้งรายปีและรายไตรมาส ผ่านทางเว็บไซต์ สปส. www.sso.go.th

โดยการลงทุนมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลการบริหารกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ดอกผลสะสมจากการลงทุนกว่า 8.34 แสนล้านบาท จึงขอให้พี่น้องผู้ประกันตนทุกท่านเชื่อมั่นในเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมว่ามีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในระยะยาวอย่างแน่นอน รวมถึงไม่กระทบกับบำนาญที่จะได้รับในอนาคต

ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณและติดตามการใช้งบประมาณประกันสังคม กล่าวว่า มาตรการลดส่งเงินสมทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละประมาณ 9,000 ล้านบาท จ่ายเงินบำนาญประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.8 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันในปี 2564 ที่ผ่านมา ประกันสังคมได้ดอกเบี้ย และผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่ามาตรการดังกล่าว ไม่กระทบต่อเงินชราภาพของผู้ประกันตนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบเงินสะสมกรณีชราภาพ ตามช่องทางผ่านเว็บไซต์ สปส. www.sso.go.th หรือที่ sso connect และทางแอxพลิเคชั่นไลน์ @ssothai สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่สายด่วน 1506 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ