สร้าง “คน” สไตล์ “เบนซ์” สู่บริษัทน่าทำงานที่สุดในเอเชีย

โรลันด์ โฟล์เกอร์
โรลันด์ โฟล์เกอร์

 

 

ไม่เพียงแต่การระบาดของโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว หากยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้โลกของการทำงานไม่เหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อคนทำงานต้องเร่งพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันเป้าหมายใหม่ทางธุรกิจ จึงอาจก่อให้เกิดความกดดันในการทำงาน และหากองค์กรนั้น ๆ ดูแลพนักงานไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลเสียต่อการดึงดูดพนักงานอย่างมาก

กล่าวกันว่า ความท้าทายเหล่านี้นับเป็นโจทย์ใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ ซึ่ง บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงให้ความสำคัญต่อการดูแลพนักงานที่ดีมาโดยตลอด โดยล่าสุดพิสูจน์ความสำเร็จด้วยการได้รับรางวัล “บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชียปี 2021” (Best Companies to Work For in Asia 2021) จาก HR Asia ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงรายเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

“โรลันด์ โฟล์เกอร์” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า HR Asia พิจารณาบริษัทต่าง ๆ จากการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ดี การเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วม การดูแลเอาใจใส่ สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการทำงาน และการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม โดยในปี 2021 มีองค์กรไทยถูกเลือกให้ร่วมโครงการกว่า 269 แห่ง แต่มีบริษัทในประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ทั้งหมด 52 แห่ง

“ผมเชื่อว่ากลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้เราเป็นบริษัทน่าทำงานมากที่สุดคือหนึ่ง การสนับสนุนให้พนักงานมีสมดุลการทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างลงตัว (work-life balance) สอง การรับฟังพนักงาน และสาม ผู้บริหารลงมือทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากผู้บังคับบัญชา ต้องทำให้ลูกน้องดูเป็นตัวอย่าง การบอกให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงผ่านคำพูดไม่มีอิมแพ็กต์มากพอเท่ากับการลงมือทำ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้รับรางวัลนี้ยังมีอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น, การให้วันลาหยุดพิเศษ (sabbatical leave) และให้วันลาหยุดประจำปีมากถึง 22 วันต่อปี”

“นอกจากนั้น ยังมีการมอบสวัสดิการที่ดีแก่พนักงานเพื่อดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ให้มีความปลอดภัย จนทำให้พนักงานสบายใจที่จะทำงานอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ เราสนับสนุนเรื่องความหลากหลาย (diversity & inclusion) และกระตุ้นให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอสินค้า และบริการแก่ลูกค้าอย่างดีที่สุด ตลอดจนการมีส่วนร่วมตอบแทนคืนสู่สังคม และชุมชน ผ่านโครงการ CSR ด้านการศึกษาหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนการฝึกอาชีพแก่คนรุ่นใหม่ โดยให้พนักงานของบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในทุกโครงการ”

“โรลันด์ โฟล์เกอร์” กล่าวต่อว่าจุดแข็งของเมอร์เซเดส-เบนซ์คือการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง, การเป็นนายจ้างที่ดี, การให้ค่าตอบแทนที่ดี จึงทำให้บริษัทสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ และคนที่มีประสบการณ์ให้อยู่กับองค์กรได้ เพราะสิ่งที่เราทำมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการใส่ใจดูแลพนักงานอย่างดี เพราะคนคือปัจจัยสร้างความสำเร็จให้กับบริษัท

“ทั้งนั้นเพราะพนักงานเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด เท่ากับว่าพวกเขาเป็นแอมบาสซาเดอร์ของแบรนด์ ดังนั้น หากพวกเขาไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถผลิตผลงานไปถึงมือลูกค้าได้ดี และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของบริษัท นอกจากการดูแลเรื่องค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเหมาะสม สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการใช้ความพยายามในการเข้าใจพนักงาน เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร เพราะจะส่งผลให้บริษัทสร้างวัฒนธรรมองค์กร (cooperative culture) ที่ใช่ และเป็นบริษัทน่าทำงานด้วย”

“ที่ผ่านมาเราสำรวจความคิดเห็นของพนักงานทุก ๆ 2 ปี เพื่อรับฟังฟีดแบ็กแบบ 360 องศา เพื่อให้รู้ว่าบริษัทจะต้องพัฒนาอะไร บริษัทพลาดอะไร และมีอะไรบ้างที่พนักงานต้องการแต่ยังไม่ได้ ดังนั้น การสำรวจโดย HR Asia จึงมีประโยชน์กับองค์กรมาก เพราะเป็นการตรวจสอบจากคนภายนอก เพราะจะทำให้พนักงานกล้าพูดในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน, การทำงานร่วมกันไปได้ดีแค่ไหน พวกเขามีโอกาสในการเติบโตในสายอาชีพมากน้อยแค่ไหน”

“การได้รางวัลครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจอย่างสูง นับเป็นรางวัลของพนักงานทุกคน และผมอยากขอบคุณพนักงาน และทีมงานฝ่ายบุคคลสำหรับการอุทิศตนอย่างเต็มที่ในการทำงานให้ออกมาดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทายในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าการให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพกาย และใจให้แข็งแรงอยู่เสมอคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จภายใต้วิสัยทัศน์ The Best or Nothing ของบริษัท และเมอร์เซเดส-เบนซ์จะยังคงมุ่งมั่นต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เพื่อให้แรงบันดาลใจและมีความปลอดภัยต่อไป”

“โรลันด์ โฟล์เกอร์” กล่าวด้วยว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย มุ่งสู่การทำงานในรูปแบบไฮบริด โดยให้อิสระพนักงานเลือกทำงานที่บ้าน หรือที่สำนักงานก็ได้ เพราะบางคนอยากทำงานที่สำนักงานเพื่อได้พบปะทีม ได้ระดมความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน เช่น ทีมการตลาด แต่บางทีม เช่น บัญชี สามารถทำงานที่บ้านตลอดหากพวกเขาต้องการ ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือต้องจับคู่ความต้องการกับเนื้องานของพนักงานให้ได้

“นอกจากการปรับรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม สิ่งสำคัญในปัจจุบันคือการเพิ่มระดับของทักษะให้ตรงกับเป้าหมายของธุรกิจ ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังก้าวเข้าสู่การผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่อน ดังนั้น พนักงานที่เคยดูแลเรื่องเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันต้องเรียนรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น”

“เพราะโมเดลธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง การผลิตรถยนต์อาจไม่ใช่ธุรกิจหลักของเมอร์เซเดส-เบนซ์อีกต่อไป แต่จะเน้นการขายประสบการณ์ที่ดีผ่านบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าด้วย ผลเช่นนี้ จึงทำให้เราต้องเร่งเครื่องพัฒนาทักษะของพนักงานทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่เพียงในเรื่องเครื่องยนต์รถไฟฟ้า แต่พนักงานส่วนอื่น ๆ ก็ต้องมีทักษะที่เป็น digitalization ด้วย”

“ดังนั้น ความสามารถในการทำงานหลาย ๆ อย่างจึงต้องใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้พนักงานต้องพัฒนาตนเองให้สามารถใช้บิ๊กดาต้า (big data) เพื่อมาประยุกต์ และมาวิเคราะห์ให้เกิดผลงานที่ดีที่สุดต่อไปในอนาคต”

นับว่าเป็นแนวทางการดูแลพนักงานที่ส่งเสริมความสุขในการทำงาน เพราะหากพนักงานมีความสุข มีสมดุลในการใช้ชีวิต ก็จะช่วยซัพพอร์ตเป้าหมายของบริษัท ในการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง