บ้านปู ฮาร์ท สร้างพนักงานให้เป็น “หนึ่งเดียว”

วิธพล เจาะจิตต์

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (international versatile energy provider) เชื่อมั่นว่าการให้ความสำคัญกับพนักงาน (people focus) คือ หัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีวัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู ฮาร์ท” (Banpu Heart) คอยเชื่อมโยง และหลอมรวมทุกความแตกต่าง จนทำให้บริหารคนบนความหลากหลาย และความท้าทายให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายระดับนานาชาติ

“วิธพล เจาะจิตต์” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ทรัพยากรมนุษย์ (Head of Human Resources) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติและเหมือง), กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน) และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (ระบบกักเก็บพลังงาน แพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า ยานพาหนะไฟฟ้า และพลังงานฉลาด) โดยส่งมอบพลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคตให้กับสังคม ชุมชน และโลก

บ้านปูดำเนินธุรกิจอยู่ใน 10 ประเทศ มีพนักงานกว่า 6,000 คน จึงทำให้เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายสูง ทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ช่วงวัย และประสบการณ์ต่าง ๆ นอกจากนั้น บ้านปูมีการนำหลักการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่าง (diversity & inclusion) มาบริหารพนักงานในองค์กร เพื่อผนวกให้คนในองค์กรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บนพื้นฐานของการเปิดกว้าง ความเคารพ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน

โดยกลยุทธ์ diversity & inclusion ของบ้านปู เกี่ยวข้องกับ 6 ด้าน คือ

หนึ่ง เคารพความแตกต่าง (respect diversity) โดยมุ่งเน้นกระบวนการ

สอง การกระจายอำนาจ (decentralization) เพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายเอชอาร์ในแต่ละประเทศสามารถบริหารจัดการคนในแต่ละประเทศได้

สาม บริหารศักยภาพของบุคลากรทั่วโลก (global talent management) โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรแสดงความสามารถและศักยภาพว่าอยู่ส่วนไหนขององค์กรก็สามารถโดดเด่นได้

สี่ Banpu Academy การถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้อง สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้คนบ้านปูเข้ามาพัฒนาตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มเติมทักษะ (upskill) และเปลี่ยนทักษะ (reskill)

ห้า เส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ (global career path) เปิดโอกาสให้พนักงานที่มีศักยภาพทั้ง 10 ประเทศ สามารถหมุนเวียนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศเพื่อเสริมประสบการณ์ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต

หก วัฒนธรรมพี่สอนน้อง (coaching culture) ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จริงจากรุ่นพี่ที่มากประสบการณ์ สู่รุ่นน้องที่เข้ามาใหม่และเป็นผู้ที่จะช่วยสืบทอดการทำงาน

“วิธพล” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้บ้านปูกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Banpu Transformation) ไปสู่ greener & smarter พอร์ตพลังงานที่สะอาดและชาญฉลาดมากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การ upskill และ reskill คนในองค์กรจึงสำคัญมาก เพราะบ้านปูพัฒนาคนทั้งด้านความสามารถในการทำงาน (hard skill), ลักษณะอุปนิสัยและความสามารถเชิงสมรรถนะ (soft skill) และทักษะชีวิต (life skill)

สำหรับด้าน soft skill เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ (e-Learning) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนามหาวิทยาลัยเสมือนจริง (virtual university) เพื่อให้ทุกคนกลับมาเรียนรู้ได้ใหม่เสมอเมื่อต้องการ และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการความขัดแย้ง (conflict management) เพื่อทำให้การทำงานข้ามประเทศเป็นเรื่องง่ายและปกติ

ส่วน hard skill มี 3 มิติ คือ หนึ่ง การถ่ายทอดความรู้เรื่องอุตสาหกรรมพลังงานให้พนักงานเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สอง ความเข้าใจเรื่องตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (energy trading) โดยอาศัยหลักการบริหารทาเลนต์ (talent management) จากต่างประเทศมาช่วยกันสร้างหลักสูตร

สาม การสร้างคนของบ้านปูให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศได้ (international business management) และการ upskill ในแง่ digital transformation ด้วยการนำ data มาช่วยขับเคลื่อนเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ

ขณะที่ life skill เป็นการเสริมสร้างให้พนักงานมีชีวิตที่สมดุล โดยจัดให้มีการให้ความรู้พนักงานเพิ่มเติมใน 3 ด้านหลัก คือ สุขภาพกาย (physical health) สุขภาพจิตใจ (mental health) และความรู้ในการบริหารจัดการเงิน (financial literacy)

“วิธพล” กล่าวต่อว่า บ้านปูบริหารจัดการพนักงานโดยใช้แนวคิด people-focused organization ที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของพนักงาน โดยเปิดกว้างให้พนักงานเลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความจำเป็นในชีวิต

เช่น family life สวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายของสมาชิกในครอบครัว, relaxation life สวัสดิการสำหรับการผ่อนคลายและส่งเสริมคุณภาพชีวิต, security life สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชีวิต และสุขภาพ และ transformation life สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (work life balance) โดยพนักงานสามารถกำหนดการทำงานของตัวเอง เพื่อไม่ให้กระทบการใช้ชีวิตที่นอกเหนือจากการทำงาน รวมทั้งยังนำแนวคิดแบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาปรับใช้ทั่วทั้งองค์กร

เพื่อการทำงานรูปแบบใหม่ที่รวดเร็ว และคล่องตัว สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน สนับสนุนความคล่องตัวในการทำงาน ตอบโจทย์โลก และคนยุคใหม่ที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ บ้านปูมีนโยบายทำงานที่ไหนก็ได้ (work anywhere policy) มาตั้งแต่ปี 2008 โดยพนักงานสามารถพิจารณาเลือกทำงานที่ไหนก็ได้สัปดาห์ละ 2 วัน และในปัจจุบันได้ยกระดับ work anywhere policy โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนครั้ง ซึ่งพนักงานสามารถพิจารณาเลือกสรรสถานที่ทำงานให้เหมาะสมในการทำงานของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

หนึ่ง งานที่ทำคนเดียว จะไปทำที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำที่ออฟฟิศ หรือบ้าน

สอง งานที่ทำด้วยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน

สาม งานที่ต้องทำด้วยกัน และอยู่ด้วยกัน เช่น การสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ

“วิธพล” กล่าวในตอนท้ายว่า แนวคิดและกลยุทธ์ทั้งหมดข้างต้น ส่งเสริมให้ “บ้านปู ฮาร์ท” หรือวัฒนธรรมองค์กรในมิติต่าง ๆ แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย มิติการสร้างความหลงใหล (passion) ในการทำงานให้พนักงาน เพราะบริษัทให้คุณค่ากับความแตกต่าง สร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง เพราะมีการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น และให้โอกาสในการเติบโต

ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมมิตินวัตกรรม (innovation) กล้าคิดกล้าทำ คิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ และส่งเสริมมิติยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง (committed) รู้จักการประสานพลังร่วมกับคนอื่น สร้างเครือข่ายการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น


ดังนั้น “บ้านปู ฮาร์ท” จึงเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนบ้านปู ด้วยการหลอมรวมทุกความแตกต่างของพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียว จนทำให้คนบ้านปูเป็นคนที่หัวก้าวหน้า ลึกซึ้งลงรายละเอียด และถ่อมตน