Human Soft Skills ทักษะมนุษย์เงินเดือนยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน “human soft skills” เป็นทักษะที่หลายองค์กรให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นทักษะเชิงสมรรถนะที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงาน และสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ SEAC (ซีแอค) จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “The Skillsverse : 2022’S Hottest Human Soft Skills” พร้อมกับเผยทักษะ human soft skills ที่คนในองค์กรต้องมี

ภายในงานมีผู้นำทางความคิดด้านการพัฒนาศักยภาพคน และองค์กร ได้แก่ “อริญญา เถลิงศรี” Chief Capability Officer and Managing Director, SEAC พร้อมด้วย “บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์” Product Director, SEAC

และผู้นำจาก 2 องค์กรคนรุ่นใหม่ “วสุธร หาญนภาชีวิน” Chief Knowledge Officer (CKO) & Co-Founder ของ CareerVisa (Thailand) และ “นิติภัทร หาญตระการพงษ์” Head of People Team, Sea Thailand มาร่วมแชร์แนวทางในการยกระดับศักยภาพคน และองค์กรธุรกิจไทย

เบื้องต้น “อริญญา” กล่าวถึงความสำคัญของ human soft skills ว่าโลกการทำงาน และตลาดแรงงานมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย แต่เรากำลังเห็นอย่างชัดเจนว่ากระแสคลื่นดิสรัปชั่นส่งผลกระทบให้บางตำแหน่งหายไป ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ

รวมทั้งมีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนทำงานยุคนี้จึงต้องเข้าใจทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ตนเป็นที่ต้องการ สามารถตอบโจทย์การทำงาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในอนาคต

ที่สำคัญ คนทำงานทุกระดับจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้มีความสามารถแบบไดนามิกที่ทำงานสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในบริบทของโลกการทำงานที่พลิกโฉมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการลงทุนในบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นแรงผลักดันที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

ทั้งนี้ “อริญญา” ยกผลการวิจัยของ Pearson ที่ชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การจ้างงานบุคคลที่มี soft skill มากกว่า hard skill มักมีผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง การพัฒนา power skill หรือทักษะทรงพลังในยุคปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่มุ่งมาสู่ soft skill ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรในหลายด้าน ทั้งมาตรฐานคุณภาพการทำงาน และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“วสุธร” กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า เรามาถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ หลายองค์กรมุ่งเน้นไปที่การคัดเลือก technical talent มากเกินไป จนบางครั้งอาจลืมไปว่ายังต้องการพนักงานที่มี soft skill ด้วย ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของการนำเทคโนโลยี และเครื่องมือเข้ามาใช้ จนทำให้ระบบเกิดการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น หลายองค์กรจึงคัดเลือกพนักงานโดยพิจารณาจาก soft skill เป็นหลัก เพราะจะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และอยู่กับองค์กรนานขึ้น เพราะ soft skill เป็นตัวช่วยที่ส่งเสริมให้ทักษะอื่น ๆ รวมทั้ง technical skill ของพนักงานแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากการมี soft skill ทางด้านทักษะการคิด หรือทักษะความคิดสร้างสรรค์จะทำให้พนักงานพัฒนางาน หรือทักษะของตัวเองให้เท่าทันกับยุคสมัย และทิศทางของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างเรื่องการจัดการอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานเข้ากับเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานข้ามสายงาน และอดทนต่อแรงกดดันได้ หรือการริเริ่มลงมือทำก็ช่วยให้พนักงานที่มี technical skill ที่แข็งแรงอยู่แล้วสร้างผลงานให้องค์กรมากขึ้น

“นิติภัทร” กล่าวเสริมว่า การที่องค์กรมุ่งเน้นแต่การพัฒนาทางด้าน technical skill ด้านเดียว อาจทำให้เกิดการสะดุดได้ เพราะยังมีงานอีกหลายประเภทที่เครื่องจักร AI ไม่สามารถทำ หรือลอกเลียนแบบมนุษย์ได้ นั่นคืองานที่ต้องอาศัย human soft skill ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้สั่งสมจากประสบการณ์ และระยะเวลา

ดังนั้น soft skill ของแต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน หากบุคลากรสามารถหาจุดแตกต่างของตัวเอง และขยายให้มีความเด่นชัดขึ้นมา ก็จะทำให้เติบโตก้าวหน้าในการทำงาน ไม่ต่างจากคนที่มี hard skill ที่ดีเลย

“ถ้าหากเรามัวแต่ไปให้ความสำคัญเพียง hard skill ด้านเดียว จะทำให้บุคลากรขาดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ขององค์กร ทั้งยังไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ และไม่เกิดการเรียนรู้ จนเกิดปัญหาในองค์กรได้ สิ่งที่ตามมาคือทำให้องค์กรเสียเวลา และงบประมาณในการแก้ปัญหาทางด้านบุคลากร”

ขณะที่ “บุญชัย” กล่าวว่าการเริ่มต้นยกระดับศักยภาพคน และองค์กรด้วย human soft skills ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ

หนึ่ง การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนรู้แบบดั้งเดิมในห้องเรียน

สอง การเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งช่องทางไลน์ หรือ tool kits ผ่านแอปพลิเคชั่น

สาม การเรียนรู้สมัยใหม่อย่างการโค้ช หรือคลาส social learning จากวิทยากรรับเชิญ

นอกจากนั้น “บุญชัย” ยังแนะนำผลสำรวจในบริบทของประเทศไทยที่ซีแอคนำ 5 hot soft skills ซึ่งเป็นชุดทักษะสำคัญแห่งปีที่ HR ควรเร่งพัฒนา เสริมแกร่ง สร้างภูมิให้คนในองค์กรเผชิญกับความท้าทาย และรู้เท่าทันโลกในยุคอนาคตประกอบด้วย

หนึ่ง thinking กลุ่มทักษะทางด้านความคิด และความสามารถเพื่อสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนความสำเร็จทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต และการทำงาน ประกอบด้วยชุดทักษะทางการคิดวิเคราะห์, ความยืดหยุ่นทางความคิด, การตัดสินใจ, การแก้ปัญหา, ความคล่องตัว ปรับตัวได้เร็ว และการวางแผนการทำงาน

สอง innovation กลุ่มทักษะที่เสริมสร้างนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วยการสื่อสาร, การเล่าเรื่อง, ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการ

สาม team กลุ่มทักษะความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ประกอบด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น, การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ, การทำงานร่วมกัน, การโน้มน้าวใจ, ความฉลาดทางอารมณ์ และความเป็นผู้นำ

สี่ productivity กลุ่มทักษะการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประกอบด้วย การตระหนักรู้ในตนเองและรู้จักจัดการตนเอง, ความรับผิดชอบ, การพัฒนาตนเอง และการจัดการความเครียด

ห้า virtual work กลุ่มทักษะที่เพิ่มผลลัพธ์จากการทำงานระยะไกล ประกอบด้วยการนำคน นำองค์กรแบบ hybrid และการพัฒนากระบวนการทำงานใหม่ ๆ ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี