แรงงานสาขาดิจิทัลขาดแคลน มหา’ลัย 101 แห่งจบแค่ 6 พันคน

แรงงานด้านดิจิทัล ขาดแคลนปีละ 25,000 คน ธุรกิจ-อุตสาหกรรมต้องการสูง มหา’ลัย 101 แห่ง ผลิตบัณฑิตไม่เพียงพอกับตลาด-ขาดแคลนอาจารย์ นักศึกษาสาขา S-curve ใช้เงินกู้ กยศ.ไม่ได้ เผยจบปีล่าสุดเกือบ 6,000 คน ด้านบริษัทไมโครซอฟท์ระบุสายงาน cyber security ทั่วโลกต้องการปีละ 2 ล้านตำแหน่ง เงินเดือนสูงสุดถึง 300,000 บาท/เดือน

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัล ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ตำแหน่ง แต่คนที่มีทักษะสูงเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย จากข้อมูลล่าสุดนักศึกษาที่เรียนจบสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ, วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีประมาณ 12,000 คนเท่านั้น แต่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมจริง ๆ ประมาณ 5,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปียังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ราว 25,000 คน

“ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง ให้แรงงานเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น เพราะดีมานด์แรงงานด้านนี้ทยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ไทยมีเป้าหมายที่อยากพัฒนาประเทศ และบุคลากรทางด้าน deep technology มากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ดีป้าและหลาย ๆ หน่วยงานกำลังดำเนินการ คือเร่งรีสกิลคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ”

“เพราะผู้ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลจะได้เปรียบทั้งโอกาสในการหางาน และโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ และหากดูสถิติของปี 2563 อัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ 1.95% ในจำนวนนี้มีผู้ที่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เกือบ 6% ถือว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานสูงมาก ทั้งยังมีนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี, นักศึกษาอาชีวศึกษาปวช. ปวส.ที่เรียนจบแล้ว และกำลังจบจะเข้าสู่ตลาดอีกราว 1 ล้านคน”

สจล.ชี้ขาดแคลนทีมอาจารย์

รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยตกเป็นจำเลยหลายด้าน ทั้งถูกกล่าวหาว่าผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีดีมานด์ความต้องการคนสูงนานแล้ว ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความต้องการแรงงานด้านนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว ทั้งคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

“แต่มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตได้ทันต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากสถาบันต่าง ๆ ขาดแคลนทรัพยากรทางด้านอาจารย์ผู้สอน รวมถึงอุปกรณ์การเรียน และเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน แม้ทาง สจล.จะมีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สาขาวิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ภายใต้คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรทางด้านนี้โดยตรง แต่กลับมีนักศึกษาทุกชั้นปีเฉลี่ยไม่เกิน 100-200 คนเท่านั้น”

“เพราะเราจำเป็นต้องควบคุมเรื่องคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ แต่ถ้าจะต้องเร่งผลิตบัณฑิตให้ได้จำนวนมาก ๆ ต้องเพิ่มอาจารย์ผู้สอน แต่การจะเพิ่มอาจารย์ผู้สอนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย เนื่องจากมีกฎระเบียบและเงื่อนไขมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สิ่งที่ง่ายสุดคือต้องใช้งบประมาณจากมหาวิทยาลัยมาจ้างอาจารย์จากภายนอกมาช่วยสอน แต่ปัญหาก็ตามมาอีกคือจ้างได้แค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะไม่เกิดความมั่นคงในวิชาชีพ”

“PIM” เร่งสร้างมนุษย์ดิจิทัล

รศ.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า เนื่องจากค่านิยมส่วนใหญ่ของนักเรียนที่เรียนสายวิทย์-คณิต จะเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์, พยาบาล, วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์มากกว่า เพราะเขามองว่าอาชีพเหล่านี้มั่นคง จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้นักเรียนไม่ทราบว่า ยังมีคณะต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้ขาดบุคลากรค่อนข้างมาก

“พีไอเอ็มเราเปิดสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมด 5 สาขา ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ, สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์, สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, สาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ แต่ละชั้นปีมีนักศึกษา 40-50 คนเท่านั้น เพราะนักศึกษายังขาดความเข้าใจต่อการนำวิชาความรู้ไปประกอบวิชาชีพในอนาคต”

“ที่สำคัญ อาจเป็นเพราะภาครัฐให้การสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนสายนี้น้อยเกินไป เช่น โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ก็จำกัดเฉพาะสาขาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์แต่ไม่ครอบคลุมสาขาที่เกี่ยวกับดิจิทัล ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง สาขาที่เกี่ยวกับดิจิทัลเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทั้งเป็นสาขาที่มีโอกาสมหาศาล”

Cyber Security เงินเดือน 3 แสน

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สายงานเป็นที่ต้องการและขาดแคลนมากในอุตสาหกรรมนี้คือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ cyber security เนื่องจากมีการโจมตีทางไซเบอร์ และการทำทุจริตเกี่ยวกับข้อมูลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลล่าสุดปรากฏว่า ตลาดทั่วโลกต่างต้องการแรงงานในสาขาอาชีพนี้สูงถึง 2 ล้านตำแหน่ง

“โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขาดแคลนบุคลากรสาขาอาชีพดังกล่าวมากที่สุด เพราะยิ่งโลกดิจิทัลพัฒนามากเท่าไหร่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์จะสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูงสุด สำหรับประเทศไทย ตำแหน่งงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังมีปริมาณน้อย ยกตัวอย่าง องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 10,000 คน แต่มีพนักงานทางด้านไอทีแค่ 30 คน”

“ส่วนพนักงานทางด้าน cyber security มีเพียง 5 คนเท่านั้นเอง ถือว่าน้อยมาก จึงเป็นโอกาสของผู้ที่มีทักษะทางด้านนี้โดยตรง และมีรายได้ค่อนข้างดี พนักงานใหม่เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 16,000-20,000 บาท/เดือน แต่ถ้ามีประสบการณ์ในระดับผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ เงินเดือนขั้นต่ำจะอยู่ที่ 70,000 บาท/เดือน และสูงสุด 300,000 บาท/เดือน”

จบสาขาดิจิทัลแค่ 5,916 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงในจำนวนมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง ตามด้วยอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 29,289 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 17,732 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี/เชิงสุขภาพ 15,432 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 14,907 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา 13,306 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 12,458 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 12,231 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 10,020 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9,836 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6,434 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 5,219 ตำแหน่ง


สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2563 จากมหาวิทยาลัย 101 แห่ง พบว่าสามารถผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก มีจำนวน 5,916 คน