ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทั่วประเทศ ปลัดแรงงานแจงทำไมเป็นไปไม่ได้

ค่าแรง แรงงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน แจงเป็นไปไม่ได้ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ ขอให้มั่นใจคณะกรรมการฯ มองทั่งประโยชน์นายจ้าง ลูกจ้าง 

วันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 ขอให้รัฐบาลเร่งปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นข้อเรียกร้องที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานต้องการ ซึ่งเราก็รับไว้พิจารณา ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีด้วย

“แต่เราได้ชี้แจงแล้วว่า หลักการพิจารณาเป็นไปตามที่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จะหารือเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเรามีไทม์ไลน์อยู่แล้วในการพิจารณา และตอนนี้เราก็เริ่มพิจารณาแล้ว ซึ่งในขณะนี้ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลตัวเลขจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเราพยายามเร่งรัดให้แต่ละจังหวัดสรุปตัวเลขให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้”

“และคณะอนุกรรมการจากทุกจังหวัดจะต้องนำข้อสรูปส่งมาที่ส่วนกลาง ในส่วนของส่วนกลางเองก็จะพยายามทำให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม ไม่เกินเดือนกันยายน 2565 ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ และคงจะได้รู้ในเวลานั้น ส่วนเรื่องที่สมควรจะขึ้นค่าแรงหรือไม่นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าน่าจะขึ้น แต่จะขึ้นเท่าไร ไม่อาจทราบได้ ตัวผมเองพยายามจะเร่งให้เสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ฝ่ายนโยบายได้ตัดสินใจต่อไป”

ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท เป็นไปไม่ได้

ส่วนจะมีโอกาสปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 492 บาท ทั่วประเทศตามคำเรียกร้อง หรือไม่นั้น นายบุญชอบ ระบุว่า เวลาทำจะต้องดู 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 ดูในสถิติเก่า ๆ ว่า การขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการไตรภาคี เคยขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนั้นหรือไม่ 2. หากต้องการขึ้นแบบนั้น ต้องดูที่นโยบาย

“ยกตัวอย่างเมื่อปี 2556 รัฐบาล สมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาท แต่ว่าวันนี้ สิ่งแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า ในแต่ละจังหวัดมีฐานของตัวเอง จังหวัดต่ำสุดคือ 313 บาท จังหวัดสูงสุดคือ 336 บาท ต่างกัน 23 บาท ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้มาเท่ากัน ถ้าพูดตรง ๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตอนที่เราให้พนักงานไตรภาคีจังหวัดพิจารณา เขาต้องเอาจากฐานเดิมว่า ล่าสุดคือเท่าไร พร้อมกับตัววัดต่าง ๆ ซึ่งมีสูตรคำนวนอยู่แล้ว ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ตัวจังหวัดก่อน เราไม่สามารถชี้ได้” นายบุญชอบ กล่าว


นายบุญชอบ กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาของประชาชน แต่ว่าในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีสูตรในการคำนวนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับจังหวัดด้วย เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพต่าง ๆ เชื่อว่ากรรมการไตรภาคีมองถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้มองข้างตัวเองเป็นหลัก จึงอยากให้มั่นใจว่าคณะกรรมการมองทั้ง 2 ด้าน ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง และเชื่อว่าสิ่งที่จะออกมาเป็นสิ่งที่เหมาะสม มีเหตุและมีผล และขอยืนยันเช่นนี้